แม้ช่วงเวลานี้ฝนยังคงตกหนักและมีน้ำหลากท่วมในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบยืนยันว่าจะไม่มีน้ำท่วมหนักเหมือนเมื่อปี 2554

ผู้นำกองทัพให้ความมั่นใจเช่นเดียวกันนี้ด้วยว่า มีการส่งกำลังพลไปช่วยระบายน้ำออกจากเขื่อนสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว สถานการณ์โดยรวมจึงรับมือได้

แต่การปฏิบัติงานรับมือดังกล่าวสะท้อนว่ายังคงเป็นการ “ตั้งรับ” และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

แม้ว่าหลังจากปี 2554 มีการศึกษาบทเรียนครั้งใหญ่ที่ได้บทสรุปว่าจะตั้งรับฉุกละหุกไปตลอดไม่ได้ ต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำให้จริงจัง

แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในรัฐบาลชุดเดิมพับเก็บไปด้วยเงื่อนไขทางการเมือง และตามด้วยสถานการณ์การเมืองที่ชะงักงัน

แม้ว่าทางราชการระบุว่า ปี 2561 มีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2554 คือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขับเคลื่อนนโยบายได้เบ็ดเสร็จ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา จิสด้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานของกองทัพ

คำสั่งการให้พร่องน้ำ ระบายน้ำ จึงอยู่ทันเวลาที่จะรับน้ำฝนที่จะมาใหม่ได้ ไม่เกิดการสะสมให้เป็นปริมาณน้ำมหาศาลเหมือนเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลเพิ่งเข้ามารับงาน ไม่ทันทั้งการเตรียมพร้อมและการรับมือ

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นการตั้งรับอยู่เช่นเดิม








Advertisement

นอกเหนือจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักคือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเกิดขึ้นบ่อยและอาจร้ายแรงกว่าเดิม

ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่ามีการบริหารจัดการดี กลับเผชิญความเสียหายร้ายแรง เนื่องจากภัยพิบัติที่มาเร็วและมาแรงกว่าปกติ

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้วางแผนเรื่องการขยายตัวของเมือง การเพิ่มเส้นทางคมนาคมและการขนส่ง การแก้ไขพื้นที่ที่เกิดภัยแล้ง หรือพื้นที่ประสบน้ำท่วม-ดินถล่มซ้ำซาก

ความเดือดร้อนและเสียหายในเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 2554 อาจติดตาคนในเมืองหลวง แต่สิ่งที่ประชาชนตามภูมิภาคอื่นๆ ประสบนั้นเป็นภัยพิบัติทางน้ำในทุกปี

การมีแผนตั้งรับอย่างเดียวนั้นไม่พอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน