คําชี้แจงของรัฐบาลไทย กรณีมีชื่อติดอยู่ใน 38 ประเทศที่มีพฤติกรรมน่าละอาย ตามรายงานประจำปีของเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นคำอธิบายกว้างๆ ในหลักการ แต่ชี้แจงไม่ได้ถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ไทยเข้าไปมีชื่อติดอันดับด้านลบเช่นนี้

หัวข้อของรายงานฉบับนี้ระบุถึงพฤติกรรม น่าละอาย ได้แก่ ตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการสังหาร ทรมาน และจับกุมตัวตามอำเภอใจ

แต่รัฐบาลไม่เอ่ยถึงกรณีอันเป็นปัญหา ได้แต่ยืนกรานว่าไทยมีมาตรการคุ้มครอง โดยพัฒนากระบวนการ กลไกและมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ปลอดภัย ทั้งมีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว

ทั้งที่รู้ว่า การมีกับการปฏิบัตินั้นเป็นคนละเรื่องกัน

กรณีของไทย ถูกระบุชัดเจนถึงกรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองลาหู่ ถูกคุกคามล่วงละเมิดจนถึงถูกขู่ฆ่า หลังจากเรียกร้องความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส นักเคลื่อนไหวชาวลาหู่วัย 17 ปี ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิต

ส่วนน.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกกล่าวหาในความผิดทางอาญาจากความเกี่ยวข้องโดย ตรงกับการให้ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

นอกจากนี้ยังมีกรณี น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมละออ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ผู้เผยแพร่รายงานการซ้อมทรมาน 54 กรณีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปี 2557-2558

แทนที่กรณีดังกล่าวจะได้รับการชี้แจงหรือพิสูจน์ บุคคลเหล่านี้กลับถูกข่มขู่คุกคาม หรือถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ฟ้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

เลขาธิการยูเอ็นระบุว่า โลกเป็นหนี้บรรดาผู้คนที่กล้าจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน บุคคลที่คอยให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับสหประชาชาติ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสิทธิในการมีส่วนร่วมของพวกตนจะได้รับการเคารพ

ดังนั้นการลงโทษบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติจึงเป็นพฤติกรรมที่น่าละอาย

ข้อนี้โต้แย้งได้ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน