ประเด็นเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่งจากคำแถลงของกองทัพบกต่อกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เมื่อปี 2553 ที่อยู่นอกเหนือจากชีวิตมนุษย์ที่สูญเสียไป คือการขอความเป็นธรรมเรื่องที่อาวุธของกองทัพหายไปด้วย

แม้จะหาพบจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2557 ตามที่เจ้าหน้าที่ระบุ แต่ยังมีส่วนที่ไม่พบ

ประเด็นนี้จึงควรตรวจสอบและชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นเรื่องอันตราย และเคยเกิดกรณีมีผู้ลักลอบนำอาวุธจากภายในออกไปขายภายนอกมาแล้ว

ในเหตุการณ์ปี 2553 มีตัวเลขที่นักวิชาการสำรวจและเผยแพร่ว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่เบิกกระสุนจริงมาเกือบ 600,000 นัด และส่งคืน 479,000 นัด

ในจำนวนส่วนต่าง 117,000 กว่านัดนั้นหมายถึงการใช้ไปในเหตุการณ์ที่มีผลต่อชีวิตพลเรือน หรือเป็นจำนวนสูญหายที่ต้องติดตาม

แม้กองทัพเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างปิด เนื่องจากมีภารกิจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่สิ่งที่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างชัดเจนคือ กองทัพและกระทรวงกลาโหมใช้เงินภาษีของประชาชนเหมือนหน่วยงานรัฐส่วนอื่นๆ

ดังนั้น การใช้จ่ายเงินภาษีเพื่ออาวุธยุทโธปกรณ์จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องเปิดเผยให้ชัดเจนและต่อเนื่อง

ไม่เฉพาะในช่วงจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น แต่ยังควรรวมถึงการใช้จ่ายครั้งใหญ่ๆ ที่ประชาชนน่าจะรับทราบด้วย

กรณีไม่นานมานี้ บริษัทแอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่ข่าวการสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ H225M จากแอร์บัสเพิ่มอีก 4 ลำ ของกองทัพอากาศไทย

พร้อมระบุว่า การสั่งซื้อครั้งนี้จะทำให้กองทัพอากาศมีเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้รวม 12 ลำ ภายในปี 2564

การสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการเยือนฝรั่งเศสของผู้นำไทย เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ พร้อมกับความร่วมมือสร้างดาวเทียมและศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา

ที่ผ่านมากองทัพมีคำอธิบายถึงความจำเป็นในการซื้ออาวุธชนิดต่างๆ แต่ที่น่าสังเกตใน ยุครัฐประหารก็คือ ไม่มีการอภิปรายหรือตรวจสอบการใช้เงินเหล่านี้จากตัวแทนประชาชนในรัฐสภา

ทั้งที่การตัดสินใจของกองทัพควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน