รายงานพิเศษ

เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางกรณี 4 รัฐมนตรีเปิดตัวเล่นการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐ (พฟชร.) โดย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค

นักวิชาการ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็น ดังนี้

1.ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการกกต.

กฎหมายยังให้รัฐมนตรีที่มาดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองยังเป็นรัฐมนตรีได้อยู่ แต่โดยมารยาททางการเมืองควรหรือไม่ควรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ต้องดูกันอีกที เพราะเท่าที่รู้กันพรรคดังกล่าวสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคงต้องจับตามองว่าการปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง 4 รัฐมนตรี จะมีนโยบายหรือมีการกระทำอะไรที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่ตัวเองดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ ถ้ามีการกระทำดังกล่าวจริงจะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ จะเป็นจุดอ่อนให้พรรคการเมืองอื่นโจมตี

โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าสนใจงานการเมือง และมองกันว่าอาจมาเป็นนายกฯ โดยการเสนอชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเป็นจุดอ่อนให้เกิดการโจมตี

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งจุดที่จะถูกโจมตีมากที่สุดคือจุดนี้ เพราะพรรคต่างๆ จะมองว่าเป็นการเอาเปรียบ ไม่ชอบ ออกกฎกติกามาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และตัวเองจะได้เข้ามาสวมตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนทั้ง 4 รัฐมนตรีระบุว่าจะลาออกเมื่อถึงเวลานั้น ต้องมองว่าเรื่องนี้เป็นมารยาททางการเมือง ถ้าไม่อยากให้ถูกโจมตีก็หรือไม่มีอะไรแอบแฝงอยู่ก็ควรลาออกไป เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นเป้าให้ถูกโจมตี

ถ้าหากมองว่ายอมถูกต่อว่าจะด่าก็ด่าไปทนได้ เพราะต้องการทำประโยชน์เพื่อประเทศก็ต้องดูในอนาคตว่าที่ทำต่อไปนั้นมีประโยชน์หรือส่วนเสียประโยชน์อะไร และคงต้องดูว่าทั้ง 4 รัฐมนตรีมีพฤติกรรมอะไรหรือไปอนุมัติ อนุญาตอะไรเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคที่เข้าดำรงตำแหน่งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่น่าห่วง เพราะทุกฝ่ายเฝ้าจับตามอง เรามีนักร้องเรียนมากมายคอยจับตา แต่กลับเป็นผลเสียที่จะทำให้พรรคขยับไม่ได้ เป็นจุดอ่อนที่ให้มีการโจมตีมากกว่าที่จะอยู่ในตำแหน่งอีก 3-4 เดือน

ดังนั้นลาออกไปจะดีกว่า หรืออาจจะลาออกไปแล้วให้คนที่เรียกว่าเป็นนอมินีมาเป็นรัฐมนตรีทำหน้าที่แทน เมื่อเอาคนของตัวเองมาทำแทน เชื่อว่าต้องพูดจาภาษาเดียวกัน แล้วตัวเองก็ไปดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองได้อย่างเต็มตัว

ส่วนพรรคนี้จะเป็นทางออกใหม่ของประเทศหรือไม่ คงยังไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพรรคการเมืองอื่นก็มีแนวคิด มีสิ่งที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศได้ ซึ่งคงต้องรอดูกันอีกสักพักก่อน

2.ยุทธพร อิสรชัย

รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์

ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ถือเป็นแนวทางการทำงานและมีนโยบายที่สอดคล้องกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับรัฐบาล คสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทำให้เห็นแนวโน้มว่าการเสนอชื่อ นายกฯของพรรคนี้ 1 ใน 3 ต้องมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างแน่นอน

และน่าสนใจตรงที่ว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าสนใจงานการเมือง ทำไมบรรดารัฐมนตรีก็เริ่มสนใจงานการเมืองไปด้วย เป็นความบังเอิญอย่างมากที่มีความสนใจตรงกัน

เมื่อรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่านได้ประกาศเปิดตัวเล่นการเมือง และมีตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐแล้วถือเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องไม่ลืมว่าบุคคลหนึ่งไม่ได้มีเพียงหน้าที่หรือสถานะหรือบทบาทหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อท่านทั้งหลายยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย พวกท่านมีมากกว่าหนึ่งบทบาท หนึ่งหน้าที่และหนึ่งสถานะ จึงต้องระมัดระวังการใช้อำนาจที่อาจมีผลไปในทางใดทางหนึ่ง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐซึ่งอาจมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

นอกจากนี้การแสดงสปิริตในทางการเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเรามักเรียกร้องจากนักการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นผู้ที่มาจากการแต่งตั้งก็ควรแสดงสปิริตด้วยเช่นกัน โดยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อลดข้อครหา เริ่มต้นสวมหมวกใบเดียวตั้งแต่ตอนนี้

มองว่าเวลาที่เหมาะสมของพวกท่านคือควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป เพื่อความเสมอภาค สามารถทำได้เลย

อีกทั้งท่านเป็นพรรคใหม่ซึ่งมีสิทธิที่ได้รับทันที สามารถเริ่มเดินสายได้ ต่างจากพรรคการเมืองเก่าที่ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มาก

ทั้งนี้ หากพรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ เชื่อว่าความขัดแย้งไม่ได้หายไปจากสังคม เพราะเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง เช่น รัฐธรรมนูญหรือกติกาที่เขียนขึ้น ซึ่งมีทั้งพรรคการเมือง นักการเมืองหรือแม้แต่ประชาชนบางส่วนที่ไม่ยอมรับ

พลังประชารัฐเป็นพรรคที่มีสมาชิกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มีฐานเสียงจากกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทตามภูมิภาคต่างๆ สังเกตได้จากการสัญจรของครม.ในหลายจังหวัด

ถือเป็นพรรคทางเลือกให้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่พรรคทางเลือกสำหรับสังคมไทย

3.พัฒนะ เรือนใจดี

อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เป็นเรื่องส่วนตัวของรัฐมนตรีแต่ละคนเมื่อทำงานมาสักระยะหนึ่งอาจมีความเห็นว่าอยากจะมาสู่สนามการเมืองให้ถูกต้อง เพราะการเข้ามาทำงานของท่านเข้ามาตามคำเชิญของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงแล้วแต่มุมมองของประชาชน เพราะท่านเข้ามาตามครรลองแล้ว

ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐ จะให้การสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อนั้น ยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นต่อหรือไม่ เพราะที่มาของนายกฯ มาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กำหนดว่ารัฐสภาจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ

ที่สำคัญจะต้องอาศัยเสียงส.ส. 126 คน เพื่อรวมให้เกินครึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง จาก 750 เสียง ฉะนั้นไม่ง่ายที่จะได้กลับมาเป็นนายกฯ หรือจะรอรอบสองคือเป็นคนนอกเหมือนกรณีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ

เมื่อการออกตัวของนายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ นายกอบศักดิ์ และเพื่อนทหารในกลุ่มของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เห็นว่าท่านคงไม่เลือกวิธีที่สอง คือเป็นคนนอกแล้วรออยู่ ท่านคงเลือกที่จะมีรายชื่อในพรรคพลังประชารัฐให้เสนอชื่อท่านแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้เข้าไปเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ควรลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะมองว่าไม่ขัดกับกฎหมาย แต่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึงแล้ว

คำพูดที่รัฐมนตรีบอกว่าจะไม่เอากำลังคนและทรัพยากรของกระทรวง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ แต่ท่านเป็นถึงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค จึงควรลาออก ถ้าหากเดินหน้าต่อไปจะเป็นการได้เปรียบในทางการเมือง และทำให้พรรคการเมืองอื่นอดคิดไม่ได้ว่าท่านเอาเปรียบทางการเมือง

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นทางออกหรือทางเลือกใหม่ของคนไทยหรือไม่นั้น คงต้องดูนโยบาย ท้ายที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมาใน 4 ปีที่ผ่านมา ผลิดอกออกผลหลังจากนั้นได้อย่างไร ตรงนี้อาจจะมีโอกาสได้กลับเข้ามาบริหารประเทศได้

แต่ถ้า 4 ปีที่ผ่านมาบวกกับนโยบายของพรรคแล้วไม่เด่น ก็คงไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ส่วนความขัดแย้งที่ผ่านมา มีความสงบเกิดขึ้นเพราะคำสั่งคสช. ที่ใช้กฎอัยการศึกหรือใช้กฎหมายพิเศษ แต่หากมีการเลือกตั้งจะต้องถอนคำสั่งดังกล่าวออกไป

ถ้าความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะปะทุขึ้นมาอีกได้ เพราะมีหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องเดียว

4.สุเชาว์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุบลราชธานี

ถ้าพูดตามภาพที่เห็นรัฐมนตรีทั้ง 4 คน ซึ่งทำงานในรัฐบาลที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำ แน่นอนว่าน่าจะเป็นการปูเส้นทางเพื่อรองรับคณะรัฐบาล

ก่อนหน้านั้นมีคนในตระกูลคุณปลื้ม รวมทั้งผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดในภาคอีสานบางส่วนเข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ จึงมองว่าน่าจะเป็นช่องทางที่ชัดเจนในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้ามาสู่การเมืองของพล.ประยุทธ์ตามที่มีกระแสข่าว

การที่พรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่แต่ละคนสามารถตั้งพรรคการเมืองลงสมัคร ส.ส.และส.ว. รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนบุคคล

แต่ทั้งพรรคการเมืองต่างๆ นักวิชาการ และประชาชน ที่จับตามองเรื่องนี้ต่างกังวลที่ผู้พิทักษ์ ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารงาน เพื่อจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ตามที่ระบุ เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ปกครองเสียเอง ประชาชนต้องคอยดูว่าจะเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ของการยึดอำนาจเมื่อปี 2534 หรือไม่ สิ่งเหล่านี้น่าศึกษาและติดตาม โดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเมื่อมีการเลือกตั้ง

รัฐมนตรีทั้ง 4 ที่ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ ควรจะถอดหมวกในตำแหน่งรัฐมนตรีออก เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ชอบธรรม ดูสง่างาม และมาดำเนินเส้นทางเดียวกับพรรคการเมืองอื่นที่กำลังดำเนินการตามกติกาของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ส่วนที่ประกาศว่าจะเหลือหมวกเพียงใบเดียวเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม มองว่าเมื่อถึงเวลาที่ตั้งพรรคเรียบร้อย จดทะเบียนตามระเบียบข้อบังคับ และกกต.รับรองความเป็นพรรคถูกต้องตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ควรจะลาออกทันที โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายพรรคการเมืองใช้บังคับ และก้าวลงมาสู่สนามการเมืองอย่างคนอื่นจึงจะเป็นการเล่นอย่างยุติธรรม

จะทำให้เกิดความสง่างามและภาพลักษณ์ที่ดีในนามของผู้แทนรัฐบาลและเป็นเครดิตของพรรคพลัง ประชารัฐด้วย

ถ้าไม่ยอมถอดเครื่องแบบ ไม่ยอมสละเก้าอี้ ยังสวมหมวกสองใบอยู่ จะทำให้ความศรัทธาที่มีต่อพรรค พลังประชารัฐลดลงในสายตาประชาชน

ที่สำคัญจะส่งผลให้ความคลางแคลงใจ ความไม่สบายใจของพรรคการเมือง และความสงสัยของประชาชนที่มีต่อรัฐมนตรี 4 คน ว่าอาจจะใช้อำนาจบารมีในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งและหาคะแนนนิยมให้พรรคพลังประชารัฐ

ท้ายที่สุดแล้วพรรคนี้จะเป็นทางออกให้กับสังคมและคนไทยได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเมื่อผู้นำที่กุมอำนาจไว้โดยพยายามให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง พยายามสร้างนโยบายใหม่โดยใช้นิยามเรื่องประชารัฐจนกลายมาเป็นพรรคการเมือง จะเป็นข้อศึกษาหรือบทเรียนหนึ่งคือผู้ยึดอำนาจ มาเป็นผู้ปกครอง แต่เปลี่ยนสถานะเป็นผู้เล่นแข่งกับพรรคการเมืองอื่น

ประชาชนจะจับตาดูทั้งนโยบายที่เหมือนกับนโยบายพรรคไทยรักไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นข้อดีที่จะเปรียบเทียบว่าใครมีความสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ ราคาพืชผลการเกษตรที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ

สิ่งเหล่านี้ประชาชนจะตัดสินจากการบริหารงาน 4 ปีที่ผ่านมาของคสช.และไปแสดงออกในวันที่เข้าคูหาเลือกผู้แทน เพื่อสะท้อนว่าใครที่มีฝีมือและทำงานแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบกับชาวบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน