“มาร์ค-หมอวรงค์-จ้อน” โชว์วิสัยทัศน์ชิงหน.ปชป.

 

 

รายงานพิเศษ

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้มข้น โดยมีผู้สมัคร 3 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ นายอลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งแต่ละคนลงพื้นที่หาเสียงกับสมาชิกพรรคอย่างต่อเนื่อง

กำหนดเปิดให้สมาชิกลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 1-5 พ.ย. จากนั้นจะรู้ผลวันที่ 11 พ.ย.ที่มีการประชุมใหญ่ พร้อมเลือกกรรมการบริหารพรรครวม 41 คน

ส่วนผู้สมัครแต่ละคนมีวิสัยทัศน์ ดังนี้

1.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผู้สมัครหมายเลข 1

ที่ผ่านมาผมเรียนรู้มุมมองต่างๆ เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเป็นการสร้างใหม่ในตัวผม และผมกำลังชวนทุกคนไป Make MyMark คือไปสร้างใหม่ หรือสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในสังคม

การจะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โจทย์สำคัญที่สุดต้องรู้หน้าที่ก่อนว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำอะไร วันนี้สิ่งที่ประชาชนรอคอยและต้องการ คือทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปนำบ้านเมืองหลุดพ้นจากปัญหาเดิมๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ติดหล่มมานานมาก และความเหลื่อมล้ำ หลุดพ้นจากสภาพการเมืองที่เดี๋ยวไม่เป็นประชาธิปไตย เดี๋ยวมีแต่คอร์รัปชั่น มีการแก่งแย่งผลประโยชน์ อำนาจ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะต้องสามารถนำพาพรรคไปเป็นคำตอบกับโจทย์ใหญ่ของประชาชนให้ได้ สิ่งแรกที่ต้องมีความชัดเจนคือมีจุดยืนที่ยึดโยงกับอุดมการณ์ของพรรค มีแนวคิดที่รองรับนโยบาย เพราะนโยบายถ้าคิดเป็นเรื่องๆ ต่างคนต่างคิด ขณะที่ปัญหาของประเทศหลายอย่างเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงต้องมีระบบรองรับความคิด

วันนี้คนไทยผ่านมา 4 ปี มีระบบบริหารแบบรัฐราชการอนุรักษนิยม ก่อนหน้านั้นมีรัฐบาลที่ทำประชานิยมควบคู่กับการคอร์รัปชั่น จนนำมาสู่ความขัดแย้งความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

เราต้องมองเห็นแล้วว่า 2 เส้นทางนี้ไม่ใช่คำตอบสำหรับประเทศ แต่คำตอบสำหรับประเทศและประชาธิปัตย์อยู่ที่เรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย เรื่องการกระจายอำนาจ การปฏิรูปที่มีหลักคิดชัดเจน เช่น การลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน อยู่ที่การจับเอาปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่มาแก้ไขให้ได้

สิ่งที่ผมได้แสดงออกชัดเจนในขณะนี้คือ ประชาธิปัตย์ต้องเป็นเส้นทางหลักให้กับประเทศไทย จะไม่ยอมให้ถูกลากไป บีบให้เลือกข้างหรือบอกว่าจะไปช่วยใคร ไปสนับสนุนใคร

ประชาธิปัตย์ที่ผมนำจะเป็นเส้นทางหลักที่ตอบโจทก์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆผมพูดคนแรกว่าต่อไปนี้การบริหารเศรษฐกิจ ใช้เครื่องมือตัวชี้วัดเดิมๆ ไม่ได้เลย นี่คือความแตกต่างในเชิงกรอบความคิด

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเราไม่สามารถปรับตัวหรือใช้ประโยชน์ได้ ติดเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ผมจึงมีแนวความคิดที่จะสังคายนาระบบกฎหมาย และต่อไปนี้การเขียนกฎหมายจะทำอย่างไรไม่ให้รัฐเข้าไปเป็นปัญหา และธุรกิจรายเล็กรายน้อยติดขัดคือความเสียเปรียบรายใหญ่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องลดการผูกขาด หรือการใช้อำนาจผูกขาดได้อย่างไร ถ้าคิดอยู่ใน กรอบเดิมๆ ว่าให้เศรษฐกิจโตก่อนก็ไม่มีทางแก้ความเหลื่อมล้ำได้ นี่คือโจทก์ที่ประชาธิปัตย์จะนำเสนอ

ผมจึงบอกว่าถ้ายังอยู่กับการบริหารแบบรัฐบาลนี้ ยังอยู่กับประชานิยม คุณจะไม่ได้คำตอบในเรื่องเหล่านี้ ประชาธิปัตย์จะเป็นผู้ตอบในเรื่องเหล่านี้ และจะนำสิ่งเหล่านี้ไปเสนอกับประชาชน

ในพรรคผมต้องดึงคนที่เข้าใจประเด็นเหล่านี้เข้ามาทำ ขณะนี้มีทั้งคนรุ่นใหม่ คนที่ทำงานแล้วพร้อมมาร่วมทำงานกับผม เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาผมใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปพบปะกับกลุ่มต่างๆ ในสังคมเพื่อเรียนรู้ปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อเป็นคำตอบหลักของประเทศ และคิดว่าสมาชิกพรรคก็ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่พึ่งของประชาชน

ผมไม่คิดว่าสมาชิกอยากจะมาถกเถียงกันเรื่องชอบใครไม่ชอบใคร วันนี้พรรคมีหน้าที่ไปตอบโจทก์แก้ปัญหาของประชาชน และประชาชนก็ต้องการการเมืองที่ชัดเจน โปร่งใส ไม่ติดปัญหาเรื่องอุดมการณ์ ประชาชนค่อนข้างที่จะเบื่อหน่ายกับการเมืองในเรื่องการต่อรอง เรื่องผลประโยชน์ การแบ่งพวก

วันนี้เราหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคโดยการออกแบบของพรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องความหลากหลาย เราถึงให้สมาชิกในที่ประชุมใหญ่เป็นคนเลือก ผมไม่ต้องการมาแสดงทีมเพื่อที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าใครเป็นคนของใคร เพราะต้องการให้กระบวนการนี้สร้างพรรคและเดินไปข้างหน้า

ต้องทำให้พรรคโตขึ้น ไม่ใช่มาตั้งข้อรังเกียจทำให้พรรคเล็กลง พอเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสร็จทุกคนก็สามารถทำงานร่วมกันได้

2.นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

ผู้สมัครหมายเลข 2

ถ้าผมได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนแปลงพรรคให้เข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง

ในระยะยาวพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นหลักให้ประเทศ ในการนำพาประเทศเพื่อความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชน โดยต้องเปลี่ยนการทำงานให้เป็นทีมเวิร์ก ส่วนตัวไม่เชื่อการนำเดี่ยว ที่สำคัญต้องส่งเสริมการสร้างทีมให้มีศักยภาพ เลือกคนที่เหมาะกับงาน ให้สมกับสุภาษิตจีนที่กล่าวว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นมังกร มังกรจะงามสง่า นอกจากหัวสูงแล้ว แขนขาต้องสูงด้วย

ผมยอมรับว่าไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ที่สำคัญรู้ว่าผมรู้อะไร และไม่รู้อะไร สิ่งใดที่ไม่รู้จะเชิญคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงานแน่นอน ไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ที่ไหน ตอนนี้ผมได้ติดต่อเชิญคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงานไว้พอสมควร หากผมได้เป็นหัวหน้าพรรคจะเปิดตัวบุคคลเหล่านี้ที่พร้อมมาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์

พรรคจะต้องกระจายอำนาจให้สาขาพรรค ทั้งที่พรรคเป็นสถาบันที่มีสาขาพรรคมากที่สุดในประเทศ แต่ไม่ได้ให้บทบาทสาขาพรรค ถ้ากระจายอำนาจ สร้างสาขาพรรคให้เข้มแข็ง ให้ประธานสาขาพรรคมีที่ยืน วันใดเป็นรัฐบาล ถ้ารัฐมนตรีของพรรคลงในพื้นที่ของสาขาพรรค ประธานสาขาพรรคจะต้องร่วมรับปัญหาเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัฐมนตรี หากมีแขกบ้านแขกเมืองมาลงในพื้นที่ใด ประธานสาขาพรรคต้องร่วมต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

ถ้าหากผมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าจะนัดหมายเชิญประชุมประธานสาขาพรรคทันที และทำความเข้าใจถึงการกระจายอำนาจ สิ่งที่ต้องย้ำคือพรรคกระจายอำนาจออกไปเพื่อดูแลสมาชิก และประชาชน ถ้าใครนำอำนาจนี้ไปใช้เพื่อตนเอง ทางพรรคจะปลดทันที

การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรค ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีภาพลักษณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะไม่ติดดิน ห่างประชาชน ผมจึงพยายามพบเกษตรกร แท็กซี่ กลุ่มประชาชนที่มีโอกาสน้อย เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นกันเอง ติดดิน ซึ่งความพยายามของผมก็ได้ผล เพราะมีเสียงตอบรับที่ดีมาก

และเราพยายามสื่อสารกับประชาชนว่า พวกเราทำมากกว่าพูด เมื่อพูดต้องพูดจริงทำจริง รวมทั้งแสดงความกล้าออกมาในการ ทำกิจกรรม เพื่อสื่อสารว่าพวกเรากล้า ทั้งกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ และกล้ารับผิดชอบ เพื่อเสนอความแตกต่าง จุดสำคัญอีกอย่างคือ ต้องแสดงความมุ่งมั่นว่าใช้หัวใจทำงาน และแสดงความมั่นใจที่จะนำพาประเทศของเรา

ต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อมั่น จากฝ่ายค้านผูกขาดมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล สิ่งเหล่านี้เป็นชุดความคิดที่พวกผมจะต้องสร้างพลังใจ และชุดความคิดใหม่ให้แก่ชาวประชาธิปัตย์ การที่เราแพ้ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ทำให้ขวัญกำลังใจของสมาชิกไม่เต็มที่ ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคก็ต้องสร้างชุดความคิดใหม่เพื่อเติมพลัง สร้างความฮึกเหิมว่าเราต้องชนะ และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ พวกเราต้องเชื่อก่อนว่าเราจะชนะ ประชาชนจึงจะเชื่อตามเรา

รวมทั้งต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน เท่าที่ผมสังเกตที่ผ่านมา พรรคเรายึดติดกับดักของปัญหา เมื่อเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง สิ่งที่ตามมาคือ ความกลัว ความไม่กล้า ทำให้ผลงานไม่เป็นที่พอใจ ผมจะเปลี่ยนการทำงานให้เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ใช้ความกล้าในการทำงาน ถ้ามีปัญหาให้คิดว่าปัญหามีไว้ให้แก้ไข เชื่อว่าจะทำให้ผลงานของเราเป็นที่พอใจของประชาชน

จุดสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจในการต่อสู้ครั้งนี้เรามีความตั้งใจทำเพื่อพรรค เป็นความงดงามของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นการแข่งขันตามระบบ เชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของกระดุมเม็ดแรกในระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น

การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่เปลี่ยนม้ากลางศึก แต่เป็นการคัดเลือกม้าที่จะออกศึก อยู่ที่ว่าสมาชิกจะเลือกม้าแบบใด ม้าตัวเก่าที่วิ่งมานาน หรือจะเอาม้าตัวใหม่ที่มีความคึกคัก กระตือรือร้นที่จะออกศึก

3.อลงกรณ์ พลบุตร

ผู้สมัครหมายเลข 3

ผมพร้อมจะเป็นหัวหน้าประชาธิปัตย์ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนประเทศ ไทย ซึ่งการเดินทางโค้งสุดท้ายของชีวิตครั้งนี้เป็นจุดยากที่สุด และจะเป็นโอกาสเดียวของประเทศเราในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในการเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลที่ผมต้องกลับมาที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่เก่าแก่และมีสมาชิก 2 ล้านกว่าคน มีบุคลากรมากมายที่ได้สร้างความดี เป็นความพยายามพาประเทศสู่อนาคต

แต่เมื่อมีระบบไพรมารีโหวตนี่คือจุดเปลี่ยนพรรค ที่ทำให้เป็นพรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงได้เกิดสโลแกนว่า “one democrat one family” คือการนำพาประชาธิปัตย์สู่ความเป็นหนึ่ง จำเป็นต้องรวมพลังให้เป็นเอกภาพ

โดยเป้าหมายของประชาธิปัตย์ยุคใหม่ คือสร้างให้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง เป็นพรรคของทุกคน พรรคโดยประชาชน เพื่อประชาชน และต้องก้าวข้ามกับดัก 3 ประการให้ได้ คือ 1.ติดกับการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง 2.ติดกับการเมืองความขัดแย้งแตกแยก และ 3.ติดกับความเหลื่อมล้ำ การผูกขาดประเทศในทางเศรษฐกิจ จนถึงวันนี้แม้ว่าจะพยายามเปลี่ยนแปลง แต่ไม่สามารถสู้ปัญหาเชิงระบบได้

ผมอยู่การเมืองมา 27 ปี ในหลายรัฐบาล รู้ว่าทุกคนตั้งหน้าทำงาน แต่ยังติดอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ใครโกงก็มีกระบวนการยุติธรรมจัดการ สมาชิกพรรคต้องไม่เอาความชอบส่วนตัวมาอยู่เหนือกฎหมาย

หัวหน้าพรรคอย่างผมถ้ามีการทุจริตต้องจัดการทันที ไม่ต้องชุมนุมปกป้องผม ความดีที่ผ่านมาไม่สามารถล้างการทุจริตได้ แน่นอนที่สุดการเมืองสีขาวเราต้องให้เกียรติกัน แต่ถ้าทำผิดก็ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ถ้าเราแยกแยะได้เช่นนี้ประเทศไทยจะมีมาตรฐานใหม่ทางการเมือง

ประเทศมาถึงวันนี้ได้ผมชื่นชมทุกคน การก้าวข้ามปัญหา ที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ แต่ต้องไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของคนไทย ทุกคน ประชาธิปัตย์ยุคใหม่บนทางการเมืองด้วยแนวคิด 456 คือ 4 ปฏิรูป ได้แก่ 1.ปฏิรูปภาวะผู้นำ 2.ปฏิรูปวิสัยทัศน์ 3.ปฏิรูปการบริหารจัดการ 4.ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่

5 กฎเหล็ก คือ 1.เลือกตั้งสุจริตไม่ทุจริต 2.ยึดมั่นระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย 3.หาเสียงสร้างสรรค์แข่งขันนโยบายความสามารถ 4.ไม่คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง 5.รับทุนคุณธรรมไม่รับทุนสามานย์

และ 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยึดมั่นอุดมการณ์พรรค 2.สร้างนโยบายวิสัยทัศน์แบบติดดิน ติดดาว ติดโลก ติดรากหญ้า 3.สร้างคลื่นลูกใหม่ 4.พัฒนาสู่สถาบันทางการเมืองของประชาชน 5.เป็นผู้นำการเมืองสีขาวด้วยภาวะผู้นำที่เด็ดขาด 6.อัพเกรดพรรคสู่องค์กรทันสมัย ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน จะไม่มีเรื่องเด็กของคนนั้นคนนี้ในพรรคอีกต่อไป รวมทั้งการปฏิรูปองค์กรต้องบ่มเพาะ ติดอาวุธทางความคิด สร้างเครือข่ายขยายฐานสมาชิก และสร้างความเสมอภาคอย่างเท่าเทียม

คนของเราต้องพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาล แม้แต่ประธานสาขาพรรค ก็ต้องพร้อมเป็นรัฐมนตรี เพราะมีความสามารถมีความรู้ ไม่ใช่นายทุน และถ้าวันหนึ่งผมได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะให้ส.ส. และรัฐมนตรี เขียนใบลาออกล่วงหน้า ผมจะตั้งคณะกรรมการคุณธรรมพรรค ซึ่งจะเชิญนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นประธาน ใครมีเรื่องโดนร้องเรียนภายใน 36 ชั่วโมงต้องชี้แจงทันที

ในยุคที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคจะลงเลือกตั้งทุกครั้ง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยไม่มีอำนาจนอกระบบอยู่เบื้องหลัง ใครที่คิดจะเข้ามาแทรกแซงพรรค เพื่อหนุนใครอย่างไม่ชอบธรรม ผมจะยืนหยัดร่วมกับสมาชิกปกป้องพรรค

ด้วยประสบการณ์การเมือง 23 ปีในพรรคประชาธิปัตย์ และ 4 ปีในงานปฏิรูปประเทศ ผมพร้อมเดินหน้านำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่จุดเปลี่ยนการเมืองไทยและประเทศ สร้างศักยภาพใหม่ ผมพร้อมเป็นผู้นำพรรคที่จะร่วมกับสมาชิกพรรค ในการเปลี่ยนแปลงพรรค เพื่ออนาคตของทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน