คอลัมน์ ‘ออกจากกรอบ’ : ยอมล้มลง แล้วเรียนรู้ที่จะฝึก ‘ลุกขึ้น’ ก้าวเดินไป แม้จะไม่ชอบ

ปกติไม่ว่าที่ไทยหรือเกาหลีใต้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ได้เรียนในคณะที่ดีมีชื่อเสียง เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนในทุกประเทศต้องการ แต่น่าแปลกครับ ที่นักศึกษาหลายคนพอได้เข้าไปเรียนตามที่ตนเองต้องการแล้ว อยู่ๆ ก็อยากจะทิ้งมันไปง่ายๆ

เมื่อเจอความยากของบทเรียน น้องๆ นักศึกษาหลายคนเข้ามาขอคำปรึกษากับผม “อาจารย์คะ หนูคิดว่าหนูเรียนไม่ไหวแล้วค่ะ คะแนนสอบไม่ดีเลย หนูจะย้ายไปเรียนคณะอื่นดีกว่ามั้ยคะ? หนูรู้สึกว่าคณะนี้ไม่เหมาะกับหนู”

พอผมถามว่า ทำไมล่ะ? ก็มักจะได้คำตอบว่า “มันยาก คณะอื่นน่าจะง่ายกว่าหรือน่าจะถนัดกว่า” ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่า ที่จริงแล้วมันง่ายกว่าจริงรึเปล่า ในฐานะที่ผมเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาจิตใจ ผมไม่เน้นลงลึกไปกับพวกเขาว่า บทเรียนพวกเขายากมากจนเรียนไม่ได้ ไม่เหมาะกับพวกเขาจริงรึเปล่า? เพราะผมก็เรียนมหาวิทยาลัยมา ผมรู้ว่า ทุกวิชามีความยาก แต่ผมจะเน้นตรวจสอบว่า จิตใจของเด็กคนนั้นเป็นอย่างไร? และส่วนมากที่ผมเจอ ไม่ได้เหมาทั้งหมดว่า ทุกคนต้องเป็นแบบนี้นะครับ ความเป็นจริง คือ เด็กๆ แค่อยากเดินไปทางที่ง่ายกว่า มีเวลาขี้เกียจได้มากกว่า พอพวกเขาผลการเรียนตก ก็จะบอกกับตัวเองว่า ฉันไปไม่ไหวแล้ว เพราะในใจ เรียนด้วยจิตใจที่ผิดปกติอยู่

ผมขอยกตัวอย่างกรณี “น้องมะปราง”(นามสมมุติ) นิสิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำคนหนึ่ง เธอเล่าให้ผมฟังว่า “หนูเป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียนค่ะ จนที่โรงเรียนส่งชื่อหนูเข้าชิงทุนและสุดท้ายก็ติดคณะนิติศาสตร์ ตอนนั้นใครๆ ก็มองว่าคณะนี้ดี เรียนจบหางานทำง่าย เงินเดือนดี หนูเองก็ชอบมัน จึงเลือกคณะนี้ตามกระแส และคิดว่าตัวเองก็น่าจะเรียนได้ แต่พอเข้ามาเรียนจริงๆ วิชาที่เรียนยากมาก ต้องท่องจำ ต้องอ่านหนังสือเยอะ รู้สึกว่าตัวเองเรียนต่อไม่ไหวแล้วค่ะ”

แต่ด้วยความที่เข้ามาเรียนแล้วก็ต้องเรียนต่อให้จบจึงฝืนตัวเอง พยายามเกาะเพื่อนเรียนหรือเลือกลงวิชาที่ง่าย ตอนนั้นน้องมะปรางเครียดมาก จึงพยายามหาความสุขด้วยการไปเที่ยวกับเพื่อนหรือแฟน เริ่มโดดเรียนเป็นประจำ คะแนนจึงเริ่มตกต่ำลง เธอบอกกับผมอีกว่า ตอนนั้นในใจของเธอก็ทุกข์ทรมาน เพราะเดิมทีคิดว่าอยากจะตั้งใจเรียน ให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้าม ทุกครั้งที่มองเพื่อนที่เรียนเก่งๆ สอบได้คะแนนดี ก็จะอิจฉา และน้อยใจตัวเองเสมอ “ฉันหัวไม่ดีเหมือนเพื่อน ฉันเลยได้แค่นี้” ฟังแล้วดูน่าสงสารมากเลยนะครับ

ผมควรจะบอกเธอว่า “ถ้ามันยากก็ซิ่ว แล้วไปเรียนสิ่งที่ชอบดีกว่า อาจจะทำได้ดีกว่านี้” ซึ่งปกติคนอื่นๆ ก็แนะนำเธอแบบนี้ครับ แต่ผมเห็นจิตใจที่ผิดปกติในการเรียนของเธอ และปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ความยากของวิชา แต่เป็นจิตใจของเขา ที่ต้องการอะไรที่มันสบายกว่านี้

อยากหลบหนีความยากลำบากเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วแค่เปลี่ยนจิตใจเรื่องการเรียนก็ไม่ใช่ปัญหาเลย ผมมองว่า น้องมะปรางได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น หลายคนอยากสอบเข้าคณะนี้ แต่ก็ทำไม่ได้ ตอนนี้น้องเขาเรียนด้วยความรู้สึกว่า มันยาก แต่ในทางกลับกัน หากมีใจ “ขอบคุณที่ได้เรียน” ก็จะสามารถสู้และเรียนต่อได้อย่างมีกำลังครับ…แต่พูดมันก็ง่าย ทำให้ได้นี่สิยาก…

ตอนหลังน้องมะปรางได้ไปเป็นอาสาสมัครที่ประเทศอินเดียกับโครงการ Good News Corps ของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) ที่ผมดูแลอยู่ ตอนที่ต้องทำงานอาสาที่นั่น ความยากลำบากต่างๆ เข้ามา ไม่ได้อยู่สบายเหมือนไทย น้องบอกผมว่า เธอได้เรียนรู้จักการท้าทายตัวเอง ฝึกทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่ชอบ เป็นระยะเวลา 1 ปี จนสามารถกลับมาเรียนด้วยใจที่เข้มแข็งได้

“ตอนที่อยู่อินเดียมันทำให้หนูเห็นสภาพตัวเองที่มักจะหลบหนีกับเรื่องยากๆ เสมอ เพราะหนูไม่อยากเป็นคนล้มค่ะ หนูจึงเลือกหลบแทน แต่สิ่งสำคัญคือ ล้มก็ได้ และเรียนรู้ที่จะ ‘ลุกขึ้น’ ดีกว่า มีคนมากมายอยากเรียนมหาวิทยาลัยที่หนูเรียน แต่หนูกลับไม่เห็นค่า และจะทิ้งโอกาสนี้ เพียงเพราะคิดว่ามันยาก หนูทำไม่ได้แล้ว การ ‘ฝึกล้ม’ตอนที่เป็นอาสาสมัครมันสอนอะไรหลายๆ อย่างค่ะ หนูควรลุกขึ้นขอบคุณและตั้งใจเรียนถึงจะถูก พอกลับมา ถึงแม้ว่า ต้องเดินทางไปเรียนเกือบ 2 ชั่วโมง หนูก็ไม่เคยขาดเรียนสักครั้ง และถึงแม้ว่าการอ่านหนังสือจะยากมาก แต่หนูก็อ่านต่อ แม้จะไม่ได้เข้าใจอย่างรวดเร็วเท่าเพื่อน แต่ก็ไม่เป็นไร ช้าหน่อยก็ได้ เข้าใจเหมือนกัน” มะปรางกล่าว

หากมองออกมานอกกรอบความคิดเรา ตอนเรามองเห็นข้อเสียของตัวเองอย่างชัดเจน ตอนนั้นจะสามารถเกิดคำขอบคุณกับสิ่งที่ได้รับมาได้ ตอนที่มะปรางเอาแต่ติดตามความรู้สึกของตัวเอง เข้าข้างตัวเองว่าเธอทำไม่ได้แล้ว สถานการณ์ก็ดูสิ้นหวัง ตอนหลังน้องมะปรางก็จบการศึกษาและเข้าสอบเป็นทนายความตามคำแนะนำของผมได้ แต่แน่นอนว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ครั้งแรกเธอสอบตกครับ ตอนนั้นเธอมาปรึกษาผมอีกเพราะเริ่มมีความคิดว่า “หรือฉันจะไม่รุ่งกับทางนี้จริงๆ ฉันไปทำงานสายอื่นที่ง่ายกว่านี้ดีกว่ามั้ย?”

โดยปกติคนเราพอเจอสิ่งที่ยากแล้วมองด้วยสายตาตัวเองก็จะยอมแพ้ ท้อถอยได้ แต่ถ้าคิดลึกๆ จะเห็นว่าน้องมะปรางไม่ใช่ทำงานนี้ไม่ได้ แต่จิตใจแค่อยากหลบ และชอบอะไรที่สบายกว่าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เธอเลือกที่จะทำตามคำแนะนำของผม เธอสอบตั๋วทนายตกอีก 6 ครั้ง ในที่สุดก็สอบผ่านครั้งที่ 7 ใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี และตอนนี้เธอก็สามารถเข้าไปทำงานในบริษัทที่ดีมากๆ แห่งหนึ่งได้ และก็มีความสุขกับงานนี้มากครับ

ความรู้สึกของเราบางครั้งมันเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ พอเจอสิ่งที่ยากหน่อยคนก็จะชอบหลบหนี แล้วเดินไปในทางที่สบายกว่า สนุกกว่า ถ้าใช้ชีวิตด้วยใจแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่ออกมามันจะสร้างความทุกข์ทรมานในอนาคต เหมือนกับตอนที่น้องมะปรางเอาแต่เที่ยวเล่นและโดดเรียน สุดท้ายก็มีความสุขได้แค่ครู่เดียว

แต่พอเห็นตัวเองอย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมาเธอเดินผิด ก็กลับใจและสู้ใหม่ได้ จริงๆ แล้วทุกคนสามารถเอาชนะความยากลำบากได้ครับ แค่ลองเปิดใจทำในสิ่งที่ท้าทาย ปฏิเสธเสียงที่รักสนุก ก้าวออกไปทำในสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วคุณจะได้เห็นความสำเร็จที่มีความสุขครับ


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน