การไปแจ้งความกล่าวโทษ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ของ นายเอกชัย หงส์กังวาน และเพื่อน ในความผิดตามมาตรา 113 ประมวลกฎหมายอาญา

เหมือนกับเป็นเรื่อง”ไม่ปกติ”

เพราะหากเป็นเรื่องปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งสน.ลาดพร้าวคงไม่พยายามเกลี้ยกล่อม นายเอกชัย หงส์กังวาน และเพื่อนให้เปลี่ยนใจ

เพราะหากเป็นเรื่องปกติที่ปากซอยและที่หน้าบ้านของ นายเอกชัย หงส์กังวาน คงไม่คลาคล่ำไปด้วยตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ

แม้เป็นสภาพที่เข้าใจได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเรื่องแปลกอย่างประหลาดอยู่นั่นเอง

ความจริง บทบาทของ นายเอกชัย หงส์กังวาน เป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งหากมองจากความเป็น”พลเมืองดี”ที่ต้องการให้กฎหมาย ดำรงความศักดิ์สิทธิ์

กระนั้น การแสดงออกของ”ตำรวจ”ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เคยมี”พลเมืองดี” จำนวนไม่น้อยไปแจ้งความกล่าวโทษคณะที่ทำรัฐประหาร

แต่ก็ลงเอยด้วยการถูกจับกุมและปรับทัศนคติ

จากสถานการณ์ในอดีตเช่นนี้เองจึงนำไปสู่การพยายามโน้ม น้าวเพื่อเปลี่ยนใจ นายเอกชัย หงส์กังวาน มิให้เดินหน้าแจ้งความ กล่าวโทษ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่ การยืนหยัดที่จะแจ้งความให้ได้ของ นายเอกชัย หงส์กังวานและเพื่อน ด้านเดียว

ตรงกันข้าม อยู่ที่เจ้าหน้าที่รับ”แจ้งความ”ต่างหาก

ไม่มีใครรู้ว่าในที่สุดแล้วการแจ้งความกล่าวโทษ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จะลงเอยอย่างไร

แต่นี่คือจุดเริ่มต้นอันทรงความหมายในเรื่อง”รัฐประหาร”

การทำรัฐประหารทุกครั้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะหากไม่ผิดกฎหมายคงไม่มีการนิรโทษกรรม

การนิรโทษกรรมนั่นแหละ คือเครื่องยืนยัน

การที่ นายเอกชัย หงส์กังวาน มาแจ้งความกล่าวโทษก็เพื่อตอกย้ำให้ตระหนักในเรื่องสำคัญนี้

สำคัญตรงที่กระตุกให้ฉุกคิดในเรื่องของ”รัฐประหาร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน