ใช้ใจหยิบความสุข เพราะ สถานการณ์ยากลำบาก ไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้เราไม่มีความสุข

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้ผมได้ยินข่าววัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายกันมากขึ้น ผมรู้สึกว่าเยาวชนสมัยนี้จิตใจอ่อนแอเหลือเกินครับ บางคนฆ่าตัวตายได้ง่ายๆ เพียงเพราะ น้อยใจ หรือเกรดตก บางคนตัดสินคนจากภายนอก แล้วนำไปสู่ความเกลียดชัง วันนี้ผมจะมาเล่าถึงชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งในยุคของผมให้ฟังครับ

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผมอาศัยอยู่ที่เมืองมุชังโพ ชนบทแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ได้พบกับคุณตาคนหนึ่ง ที่มีฐานะยากจน เขาอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสาว 1 คน และลูกชายอีก 3 คน วันหนึ่งลูกสาวของเขาไปคบหากับชายหนุ่มในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอับอายมากสำหรับคนเกาหลียุคนั้น ครอบครัวของเขาจึงถูกตราหน้าว่า เป็นคนชั้นต่ำ ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังแอบพบกันเรื่อยมา คุณตาไม่อาจยอมรับคำดูหมิ่นจากผู้คนได้ว่า ตนเป็นคนชั้นต่ำ

จึงทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกสาวออกไปพบชายคนนั้น ทั้งดุด่า ทุบตี ถึงขั้นโกนผมลูกสาว ก่อนจะจับมัดขังไว้ในบ้าน แต่พวกเขาก็ยังลอบพบกัน คุณตาจึงใช้ความรุนแรงกับลูกสาวเพื่อขัดขวางอยู่เรื่อยมา จากการกระทำที่รุนแรงนั้น ทำให้ลูกสาวมีอาการทางจิต ไม่นานก็เสียชีวิต เมื่อคนเป็นแม่เห็นดังนั้น จึงล้มป่วยและเสียชีวิตตามไปในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า คุณตาได้แต่รู้สึกผิด และกล่าวโทษตัวเองว่า เป็น ‘ฆาตกร’ ที่ฆ่าลูกสาวและภรรยา แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ลูกชายคนโตของเขามีอาการทางจิต จนต้องเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ลองนึกภาพตามสิครับ ว่าคนที่เหลืออยู่จะใช้ชีวิตอย่างยากลำบากขนาดไหนในบ้านที่มีแต่ผู้ชาย

คุณตาวัย 60 ปี ที่ต้องดูแลลูกชายคนโตที่ไม่ปกติ ตื่นแต่เช้ามาทำกับข้าวให้ลูกชายคนกลางที่กำลังเรียนอยู่ ม.ต้น หรือซักรีดเสื้อผ้าให้ลูกชายคนเล็กที่อยู่แค่ชั้นประถม ทั้งยังต้องแบกรับความทุกข์ทรมานกับความรู้สึกผิดบาปในสิ่งที่เกิดขึ้นกับภรรยา และลูกสาว หากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเรา เราจะมองสถานการณ์นี้ด้วยจิตใจแบบไหนครับ?

หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ย้ายไปอยู่เมืองอื่น และมาอาศัยอยู่ประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่ได้ข่าวคราวของพวกเขาอีกเลย จนผ่านมานานกว่า 30 ปี ผมได้มีโอกาสผ่านไปที่เมืองมุชังโพอีกครั้ง จึงลองไปที่บ้านของคุณตาคนนั้นดู

แล้วผมก็พบกับลูกชายคนโตของเขาที่ยังคงมีอาการทางจิตเหมือนเดิม แต่ที่น่าแปลกใจคือลูกชายคนกลางที่ชื่อ ชีมิน ตอนที่พบกัน เขาน่าจะอายุราว 45 ปี และยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ดูแลพี่ชาย และพ่อที่อายุกว่า 90 ปี ทั้งที่คนทั่วไป เมื่อเติบโตก็จะออกจากชนบทไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมือง แต่ชีมินได้แต่งงาน และมีลูกอยู่ที่นั่น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับภรรยาอยู่ช่วงหนึ่ง แต่แล้วภรรยาของเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลง ต่อมาเขาได้แต่งงานใหม่อีกครั้ง แต่ภรรยาคนนี้กลับไม่สามารถรับสภาพครอบครัวของสามีที่เป็นอยู่ได้ จึงเรียกร้องเงินแล้วหนีไป อาจพูดได้ว่า เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเหลือเกิน

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของชีมินนั้นนับว่า หนักหนามาก ผมแปลกใจว่าเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชนบทอย่างยากลำบากแบบนี้ได้อย่างไร โดยไม่กล่าวโทษพ่อ หรือตัดพ้อต่อโชคชะตา?

โดยปกติคนทั่วไปมักจะเชื่อสายตาตัวเองแล้วรู้สึกว่า “เป็นเพราะพ่อ แม่กับพี่สาวถึงต้องตาย พี่ชายกลายเป็นบ้า” แล้วก็หนีไปให้พ้นจากสภาพเช่นนี้ บางคนอาจจะแช่งพระเจ้าแล้วฆ่าตัวตายไปเลยก็ได้ ลองคิดดูนะครับ จิตใจที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังกับสายตาที่มองแต่สถานการณ์แล้วตัดสินผู้อื่น จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างไรครับ? หากว่าเขาเกลียดชัง และดูถูกคุณพ่อ เขาจะรับความสุขจากคุณพ่อได้อย่างไรครับ?

สำหรับชีมิน ถ้ามองแค่สถานการณ์ เขาสามารถกล่าวโทษพ่อที่ทำให้ครอบครัวยากลำบาก หรือทอดทิ้งท่าน กับพี่ชายแล้วหนีไปเลยก็ได้ แต่เขาไม่ได้ทำแบบนั้น

แม้ว่าสถานการณ์ตรงหน้าจะยากลำบาก แต่เขามีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ดูถูกหรือตัดสินพ่อจากการกระทำ และไม่ได้มองที่ความล้มเหลวของชีวิตแต่งงาน ทำให้เขาสามารถรับความสุขจากคนรอบข้างได้เสมอ ซึ่งความยากลำบากนั้น กลับทำให้เขายืนต่อหน้าสถานการณ์ได้อย่างเข้มแข็ง และก้าวข้ามมาได้อย่างมั่นคง

เมื่อเปรียบเทียบกับวัยรุ่นยุคปัจจุบันที่เชื่อความคิดตัวเอง เอามาตรฐานของตัวเองไปตัดสินผู้อื่น และมักจะหลีกเลี่ยง ‘ความหนักใจ’ แล้วยอมแพ้ให้กับสถานการณ์อย่างง่ายดาย ซึ่งนำไปสู่ ‘โศกนาฏกรรม’ ในที่สุด

ผมรู้สึกว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ ไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสุข แต่ ‘จิตใจ’ ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิต

ในสถานการณ์เดียวกันนั้นถ้าเรามองสิ่งนั้นเป็นความยากลำบาก หรือความไม่พอใจ เราก็จะหยิบได้แต่ ‘ความทุกข์’ แต่ถ้าเรามองสิ่งนั้นเป็น ‘ความหวัง’ หรือ ‘ความยินดี’ เราก็จะสามารถหยิบความสุขที่ซ่อนอยู่ออกมาจากสถานการณ์เหล่านั้นได้เสมอ ปัจจุบันชีมินได้แต่งงานครั้งที่ 3 และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่า เราใช้สายตาแบบไหนในการมองสถานการณ์และใช้จิตใจแบบไหนในการดำเนินชีวิต?


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน