คอลัมน์ รายงานพิเศษ

กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดให้คดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองสามารถอุทธรณ์ได้

กลายเป็นประเด็นถกเถียง พรรคประชาธิปัตย์มองว่าการเปิดให้จำเลยอุทธรณ์โดยไม่ต้องมีพยานหรือข้อเท็จจริงใหม่ เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้จำเลยคดีจำนำข้าว

ฝั่งพรรคเพื่อไทยมองต่างว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ฝ่ายจำเลยมากกว่า เพราะการเปิดอุทธรณ์นี้ โจทก์เองก็สามารถอุทธรณ์ได้แม้ศาลยกฟ้องแล้ว

ประสพสุข บุญเดช

อดีตประธานวุฒิสภา

ตอนนี้ระบบการพิจารณาคดีของบ้านเราต้องเป็นมาตรฐานสากล ต้องมี 2 ศาลในการจะลงโทษใคร เมื่อลงโทษแล้วหรือพิจารณาแล้วจำเลยต้องอุทธรณ์ได้

แต่บังเอิญเรื่องนี้เป็นเรื่องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การยื่นอุทธรณ์ก็มีขั้นตอนที่สูงขึ้นโดยกำหนดให้มีองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกา 9 คนพิจารณาว่าจะรับอุทธรณ์หรือไม่ เรียกได้ว่าสูงกว่าธรรมดาที่มีองค์คณะ ผู้พิพากษาธรรมดาพิจารณา

การบัญญัติไว้อย่างนี้ถือเป็นมาตรฐานสากลดีกว่าแบบเก่าที่ไม่มีการให้อุทธรณ์ การเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ถือเป็นการพิจารณาถึง 2 ชั้น เพราะชั้นแรกอาจจะผิดพลาดได้ แม้จะไม่มีหลักฐานใหม่ก็ต้องอุทธรณ์

แบบเก่าถ้าศาลยกฟ้องหรือตัดสินคดีไปแล้วก็อุทธรณ์ไม่ได้เพราะไม่มีขั้นตอนให้อุทธรณ์ แต่ของใหม่ถ้าศาลยกฟ้องหรือตัดสินคดีไปแล้วก็ยังอุทธรณ์ได้ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันเพราะอุทธรณ์ได้ทั้ง 2 ฝ่าย จึงเห็นว่าอย่างไรก็เป็นธรรมกว่าของเก่าแน่ เพราะของเก่าอุทธรณ์ไม่ได้ก็อาจจะเกิดการผิดพลาดได้

ส่วนความกังวลที่ว่าเมื่อไม่มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ก็สามารถอุทธรณ์ได้อาจเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจำเลย โดยเฉพาะคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคดีจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์นั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่อย่างนั้น

แต่การให้อุทธรณ์เป็นการกลั่นกรองตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ถ้าคดีมีหลักฐานแน่นหนาก็ลงโทษได้ ดังนั้นต่อให้อุทธรณ์เป็น 10 ครั้งก็ต้องลงโทษ การตัดสินไม่มีพลิก

ทั้งนี้ การให้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์อีกครั้งไม่มีอะไร เพียงแต่ผู้จะยื่นอุทธรณ์ต้องมายืนด้วยตัวเอง เช่น หากจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ก็ต้องมาด้วยตัวเองทนายไม่สามารถมายื่นแทนได้ เพราะบัญญัติไว้ว่าจำเลยต้องมาอุทธรณ์ด้วยตัวเอง ดังนั้นหากหนีไปต่างประเทศก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

ดังนั้นการให้อุทธรณ์ได้ถือเป็นขั้นตอนตามหลักสากลที่มีการพิจารณา 2 ชั้น แต่ต้องยื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง

สดศรี สัตยธรรม

อดีตกกต. และอดีตส.ส.ร.ปี”50

การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นการพิจารณาคดีของศาลเดียวและถือเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ไขโดยเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถอุทธรณ์คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้ มองว่าเป็นเรื่องดี

ถือเป็นการให้ความเป็นธรรมกับทางจำเลยซึ่งน่าจะดีกว่าไปแก้ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ต้องมีศาลขึ้นมาพิจารณาคดีเพิ่มขึ้นอีก เหมือนกับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ส่วนตัวเห็นว่าเป็นผลดีกับจำเลยที่สามารถอุทธรณ์คดี โดยสามารถเพิ่มพยานหรือหลักฐานใหม่ได้ ถือเป็นการให้โอกาสกับจำเลย

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ควรจะมีการตั้งองค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ชุดใหม่ ขึ้นมากลั่นกรองข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพิจารณาคดีแทนองค์คณะชุดเดิม 9 คนที่พิจารณาคดีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยเป็นการกรองข้อมูลอีกชั้นหนึ่ง

ถือเป็นการให้โอกาสกับทางจำเลยได้หายใจเพิ่มขึ้น ซึ่งหากจำเลยมีพยานและหลักฐานใหม่ๆ ที่อาจจะหลงลืมยื่นไปก่อนหน้านี้ก็สามารถนำมาเพิ่มเติมได้ หรือทางองค์คณะเดิมของศาลฯ เคยตัดพยานและหลักฐานเดิมออกไป จำเลยก็สามารถนำกลับมาเพิ่มใหม่ได้เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายโจทก์ สามารถอุทธรณ์คดีได้เช่นเดียวกันในกรณีที่ศาลยกฟ้องจำเลย ทั้งสองฝ่ายจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งซึ่งกันและกัน ถือเป็นการให้ความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย

จากนั้นก็ควรให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดมาร่วมกันตัดสินคดี เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากกว่าให้องค์คณะ 9 ท่านตัดสินคดีเหมือนที่ผ่านมาที่มีแค่ศาลเดียวจะทำอะไรต่อก็ไม่ได้

แบบนี้ถือเป็นการช่วยกลั่นกรองอีกชั้น ที่สำคัญถือเป็นการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายโจทก์รวมทั้งทางจำเลยด้วย

ส่วนที่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุ ว่ากฎหมายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในคดีในชั้นศาล นั้น

มองว่าถ้าผงไม่เข้าตาก็คงจะไม่รู้สึก ไม่ต้องมาพูดกันว่าเป็นคดีของใคร ฝ่ายไหน ลองมีคดีเกิดขึ้นบ้างจะว่าอย่างไร

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นศาลเฉพาะในประเทศไทย ที่ผ่านมาก็มีเพียงมีองค์คณะ 9 คนพิจารณาและตัดสินคดีและถือเป็นที่สิ้นสุด

ดังนั้นถ้าจะตัดสินคดีความนักการเมืองสักคนหนึ่งถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย การเปิดให้อุทธรณ์คดีได้ถือเป็นเรื่องดี เปิดโอกาสให้จำเลยสู้ให้ถึงที่สุด และให้ศาล ได้ฟังความให้เต็มที่มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย คงไม่ใช่เรื่องของการซื้อหรือยืดเวลาให้จำเลยได้หลบหนีอย่างที่มีการกล่าวอ้างกัน

ในเมื่อจะลงโทษนักการเมืองให้เสียชื่อหรือจะต้องหมดอนาคตในทางการเมืองก็ควรต้องให้โอกาสคนเหล่านี้ได้อุทธรณ์และศาลได้ฟังความให้ เต็มที่ก่อนที่จะมีการประหารเกียรติยศและชื่อเสียง ในทางการเมืองของคนๆ นั้น

ยอดพล เทพสิทธา

คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

การกำหนดให้จำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถอุทธรณ์ได้ โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ถือเป็นเรื่องที่ดีพอสมควร เพราะศาลฎีกาดังกล่าวเป็นศาลชั้นเดียวเมื่อพิจารณาตัดสินแล้วกระบวนการทุกอย่างจะจบทันที ดังนั้น หากกำหนดให้จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้จึงเป็นสิ่งที่ดี

อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าจะไปถึงขั้นที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าด้วยกระบวนการคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากหลักการในการยื่นอุทธรณ์คดีนั้นจะต้องมีข้อกฎหมายอื่นๆ รวมถึงพยานหลักฐานใหม่มาให้ศาลประกอบการพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้นจะใช้พยานหลักฐานส่วนไหนมาประกอบการพิจารณาคดีในชั้นการอุทธรณ์

อีกทั้งการกำหนดว่าการอุทธรณ์ไม่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ยังทำให้เสียระบบอีกด้วย เพราะหากใช้ข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่เป็นเรื่องที่ถูกต้องกว่า จึงเชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้ว่าจะถึงขั้นตามที่กำหนด

และหากกำหนดไปถึงรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีก็ไม่ควรนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญควรกำหนดเพียงองค์ประกอบ อำนาจ และหน้าที่ ส่วนรายละเอียดวิธีพิจารณาควรนำไปกำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า

แต่ในแง่ของหลักการยืนยันว่าเห็นด้วยที่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ได้ ควรให้โอกาสในการโต้แย้งได้ครั้งหนึ่ง

ส่วนที่ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยแย้งว่าเป็นภาระของจำเลย เพราะให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ หากศาลยกฟ้องคดีก็ไม่สิ้นสุดโจทก์สามารถอุทธรณ์ได้นั้น ในกระบวนการมีการกำหนดไว้อยู่แล้วว่าให้มองในชั้นศาลมากกว่าเรื่องของสิทธิ

อย่างไรก็ตามการกำหนดให้อุทธรณ์ได้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในส่วนการมีสิทธิที่จะอุทธรณ์เพราะเป็นสิทธิที่พึงต้องได้

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ตามหลักกฎหมายทั่วไปในการพิจารณาคดีต่างๆ ทั้งคดีอาญาและคดีอื่นๆ ต้องอยู่บนหลักนิติธรรมด้วยกันทั้งนั้น โดยให้กฎหมายเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และที่สำคัญคือคำว่าประชาชน ไม่ได้จำกัดหรือยกเว้นว่าต้องเป็นนักการเมืองหรือไม่ เพราะในทางการเมืองหากนักการเมืองมีข้อผิดพลาดหรือข้อเรียกร้องที่จะไปดำเนินคดีความก็ต้องพิจารณาให้เหมือนกับประชาชนทั่วไป

ส่วนเรื่องทาง การเมืองนั้นก็ต้องเป็นการรับผิดชอบในทางการเมือง หากมีความผิดที่ต้องดำเนินการก็ต้องถูกถอดถอนตำแหน่งในทาง การเมือง ไม่เกี่ยวกับคดีความที่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมาย

นักการเมืองเป็นประชาชนทั่วไปที่ต้องได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมาย อีกทั้งสิทธิในการอุทธรณ์เป็นเรื่องจำเป็นตามหลักกฎหมายสากลที่ไม่ว่าใครก็ต้องได้รับสิทธินั้น

ที่ผ่านมานักการเมืองจะถูกพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น ไม่เหมือนหลักการของศาลยุติธรรมทั่วไปที่มีการพิจารณาทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

การมีร่างกฎหมายลักษณะนี้ออกมาถือเป็นกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมตามหลักการกฎหมายสากลและเมื่อเทียบกับกติกาเก่าก็ถือให้ความเป็นธรรมมากกว่า

ส่วนที่ฝ่ายการเมืองพยายามโยงว่าข้อกฎหมายนี้จะเอื้อให้กับคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนั้น รวมถึงคดีความของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน

เพราะกฎหมายออกมาใช้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ออกมาเพื่อเอื้อกับใครคนในคนหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนคดีรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องว่าไปตามพยานหลักฐานที่มี หากพยานหลักฐานชัดเจนก็สามารถดำเนินคดีความตามกฎหมายได้อยู่แล้ว

รวมทั้งเรื่องจะเป็นการประวิงเวลาให้ผู้ที่มีคดีความหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้น เป็นเพียงการพูดในทางการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องการเมืองคือหลักการที่ถูกต้อง ใครทำผิดก็ต้องรับผิด ไม่ได้ให้ใครได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมายดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน