หมายเหตุ : เครือข่ายเฟจัดเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมสถานการณ์ในสังคมไทย” โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อดีต กกต. และฝ่ายการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดังนี้

1.เมธา ศิลาพันธ์

รองเลขาธิการ กกต.

รัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจ กกต.คนเดียวสามารถยับยั้งยุติการลงคะแนนได้เลย ก็ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วสะดวกมากขึ้น อีกส่วนในพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. คือ ให้กันบุคคลที่ให้ข้อมูลไว้เป็นพยาน และมีอำนาจคุ้มครองพยาน นอกจากนี้ ยังตั้งเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งจะช่วยให้ กกต.ดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การดำเนินคดีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่รู้จะอยากเข้ามาให้ข้อมูลกับ กกต.มากกว่าที่ผ่านมา

ส่วนความเข้มข้นคือ องค์กรเอกชนในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.คุยไปแล้ว 164 องค์กร มีการแบ่งพื้นที่กันในจังหวัดเพื่อดูแล และยังมี 3 องค์กรที่สมัครมาขอดูในระดับชาติ มีการเชิญตัวแทนองค์กรละ 50 คน มาพูดคุยการตรวจสอบ เรียนรู้การเขียนรายงานเป็นการเขียนคดีได้เลย ในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้ง กกต.ก็ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนการเลือกตั้งส.ว. 50 คนจากกลุ่มวิชาชีพ กกต.ก็พร้อม เชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้ทำให้ กกต.พร้อมต่อการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค. งานทุกอย่างของ กกต.จะพร้อม ระเบียบและประกาศต่างๆ จะออกมาทันที

สำหรับการตรวจสอบนั้นเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความกระตือรือร้นของประชาชนในการดูแลสังคม กกต.หวังว่าบทบาทของภาคประชาชนจะทำให้การเลือกตั้งส.ส.ที่จะถึงนี้ ประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของการเลือกตั้ง ทำให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

การทำงานภาคประชาชนผมเป็นคนรับผิดชอบ ก็มองเห็นตรงกัน ทุกอย่างควรวางอยู่บนหลักการที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

2.โคทม อารียา

อดีต กกต. และที่ปรึกษามูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย

การเลือกตั้งที่เสรีคือ ต้องปลอดพ้นจากความกลัว อยากทำอะไรก็ทำได้ตามธรรมชาติ ไม่ต้องกลัวมาตรา 44

ความเป็นธรรมคือ ต้องเล่นฟุตบอลแล้วสนามไม่เอียง สิ่งที่จะทำให้เอียงคือ อำนาจ ไม่ว่าเงินหรืออำนาจรัฐ ก็กังวลว่าจะเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ผู้เล่นในค่ายพรรคการเมืองหนึ่งดูเหมือนจะมีเอี่ยวกับภาครัฐ และผู้ที่อ้างตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ้าจะฝากความหวังไว้กับ กกต.ก็กลัวกันว่าจะถูกปลดหรือไม่ กกต.กำลังอยู่ภายใต้ความกลัวหรือไม่

กกต.ควรมีบทบาทในการจับตาคนมีอำนาจรัฐไม่ให้เอาเปรียบ คนมีอำนาจเงินไม่ว่าใครต้องยอมลดตัวลงมา อย่าหาเสียงกันฟุ่มเฟือย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กกต.ก็พึ่งอำนาจรัฐและการทำให้ผู้สมัคร ส.ส.มีจรรยาบรรณคงยาก ดังนั้น ประชาชนที่อยากเห็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมต้องมาช่วย กกต.ด้วย

นอกจากนี้ มาตรา 35 ของพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ให้ภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัยมาช่วยกกต. แต่ต้องช่วยจับตา กกต.ด้วย และต้องเป็นเอกเทศ

กกต.ต้องทำให้ประชาชนตื่นตัว ในวันที่ 9 ธ.ค.ที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ไปบังคับใช้ กกต.ไปขอร้อง คสช.ให้ยกเลิกโฆษณารวมการเฉพาะกิจ ยกเวลาเหล่านั้นให้ กกต.แทนได้หรือไม่ เพื่อให้ กกต.พูดคุยกับประชาชนและพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมได้หรือไม่ โดยเฉพาะเงื่อนไขการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ กกต.หารือกับฝ่ายการเมืองและตัวแทนสื่อทุกช่องทางนั้น มีความละเอียดอ่อนมาก มันมีโทษ แต่ประชาชนไม่รู้ว่าการกระทำใดเข้าข่ายหาเสียงหรือไม่ อยากให้เริ่มประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ

ภาคประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันอย่างอิสระ เพื่อขอรับเงินจาก กกต.ในการร่วมกันจับตาการเลือกตั้งได้ โดยในมาตรา 78 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ระบุว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจเป็นคุณหรือโทษต่อพรรค นี่คือเครื่องมือของประชาชน หากพบเห็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมให้แจ้ง กกต.ทันที ถ้า กกต.ไม่ทำก็เข้าข่ายตามมาตรานี้ กกต.จะบิดพลิ้ว ไม่ได้

ผมไม่อยากให้การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เครียด ขอให้พ้นจากความกลัว ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญต้องเป็นธรรม เป็นการเลือกตั้งของประชาชน โดยประชาชน และกกต.ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกที่เป็นกลาง

3.จาตุรนต์ ฉายแสง

แกนนำพรรคเพื่อไทย

ตอนนี้มีข้อห่วงกังวลมากมายว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เชื่อว่านับจากนี้จะเกิดอะไรหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม จนถึงขณะนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคดำเนินกิจกรรมสำคัญได้ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยน รับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งทำให้การเลือกตั้งด้อยความหมายลงไปมาก ประชาชนควรได้สะท้อนความต้องการกับพรรคการเมือง

สิ่งที่ทำได้คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ทำคือไปเดินไหว้ ให้คนตอบรับบ้างไม่ตอบรับบ้าง พรรคอื่นยังไม่กล้าทำ ถือเป็นเรื่องไร้สาระ ให้แค่พรรคไปแนะนำตัว ต้องให้พรรคพูดเรื่องนโยบายที่มีสาระมากกว่านี้ หาเสียงได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการเลือกตั้งแบบนี้ไม่เสรีและเป็นธรรม

คำว่าหาเสียง ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ในระบอบประชาธิปไตยต้องให้พรรคพูดได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ต้องมีพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งก่อนจึงค่อยให้หาเสียง ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นแบบนั้น ไม่ได้ห้ามหาเสียงกันแบบนี้ ซึ่งน่าห่วงว่าการเลือกตั้งจะห้ามอีก ห้ามตั้งเวทีหาเสียง ใช้โซเชี่ยลมีเดียได้มากน้อยแค่ไหน จะวิจารณ์ว่าชอบหรือไม่ชอบใครได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ควรมีในระบอบประชาธิปไตย แต่มีในสังคมไทยที่กำลังจะเลือกตั้งกันในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ความไม่เป็นธรรมคือ รัฐบาลนี้ยังไม่ยอมอยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ เชื่อว่าเขาจะไม่ยอมขออนุญาต กกต.ก่อนผลักดันงบประมาณที่สำคัญที่ผูกพันข้ามปี ตลอดจนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ที่สำคัญคือยังมี คสช.อยู่ แล้วก็สั่งให้ กกต.ไปตรวจไปทำงาน

สะท้อนว่า คสช.ไม่ได้ยอมรับกกต. ทำลายความอิสระของ กกต. ขอเรียกร้องให้ กกต.มีบทบาทอย่างอิสระ ไม่ใช่ไม่อิสระอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ต้องเป็นกลาง ตรงไปตรงมา อย่าอยู่ใต้อาณัติของคสช. ขอเรียกร้องให้ กกต.นำข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมืองที่ละเมิดเสรีภาพไปให้ คสช. ไม่ใช่ กกต.คอยมาบังคับให้พรรคทำตามคำสั่ง คสช.

ผมอยากเห็น กกต.ให้ใบเหลืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะต่อการใช้เงินซื้อเสียง อย่าปล่อยให้พูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง โดยไม่เห็นให้ใบเหลืองใครเลย อย่าไปให้ใบเหลืองใบแดงกันเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว โดยเฉพาะเวลาที่คะแนนชนะกันหวุดหวิด คสช.มี 124 เสียง ขาดอีก 2 เสียง แล้วมาให้ใบแดงกัน กกต.ต้องเป็น กลาง อย่ายุ่งกับการตั้งรัฐบาล

อย่าเป็นห่วงพรรคการเมืองโดยรวม แต่ต้องให้ความสำคัญ อย่าให้ประโยชน์แค่พรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แล้วให้โทษเฉพาะพรรคที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้ หลายพรรคพร้อมให้ความร่วมมือ ผลักดันให้การเลือกตั้งเสรีเป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องดูเป็นกรณี

4.สมบัติ บุญงามอนงค์

ผู้ก่อตั้งพรรคเกียน

เราไม่มีความเสรีแม้แต่การตั้งชื่อ ซึ่งมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรได้ ข้อกำหนดให้ต้องมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คน พร้อมจ่ายคนละ 1,000 บาท ก็เหมือนสกัดกั้นรายเล็ก สถานการณ์แบบนี้คนจนไม่มีสิทธิก่อตั้งพรรค แต่นี่คือความไม่เป็นธรรม ผู้เล่นรายเล็กเกิดไม่ได้ เหมือนกฎหมายการค้าเบียร์ที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตได้ปีละ 10 ล้านลิตร

ก่อนการประชุมพรรคเกียนเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ก็มีตำรวจบุกไปบ้านสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคเกียนว่าใครเป็นสปอนเซอร์ จึงขอแนะนำในช่วงนี้ให้ กกต.ใช้สื่อประชา สัมพันธ์ช่วยหาสมาชิกให้พรรค กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน