กทม.เริ่มแล้ว ลุยจับ”ตัวเงินตัวทอง” สวนลุมพินีหลังแพร่พันธุ์มากจนเกินไป หวั่นสภาพแวดล้อมเสียสมดุล วันเดียวจับได้ 40 ตัว คาดจากทั้งหมด 400 ตัว นำไปปล่อยที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าราชบุรีแล้ว 87 ตัว ด้านรองประธานมูลนิธิเรารักสวนลุมฯ ไม่เห็นด้วย ระบุที่ผ่านมาตัวเงินตัวทองไม่เคยทำร้ายใคร ไม่เข้าใจเป็นนโยบายอะไร งานอื่นมีมากมาย มาเสียเวลากับเรื่องนี้กันทำไม

เมื่อ วันที่ 20 ก.ย. ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. ระดม เจ้าหน้าที่ออกจับตัวเงินตัวทองในพื้นที่สวนลุมพินี เนื่องจากแพร่พันธุ์ออกลูกมาเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจับออกจากพื้นที่ เพื่อลดปริมาณให้เกิดความสมดุลกับสภาพแวดล้อมภายในบริเวณสวนลุมพินี อีกทั้งตัวเงินตัวทองบางส่วนออกมาสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่มาออก กำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่สวนลุมฯ

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจกลางเมือง มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ในวันธรรมดามีผู้ใช้บริการมากถึง 10,000 คน ส่วนในวันหยุดมีผู้ใช้บริการกว่า 13,000 คน ตัวเงินตัวทองในพื้นที่แห่งนี้ จากการสำรวจด้วยสายตามีอยู่ประมาณ 400 ตัว กระจายอยู่ในบึงน้ำ 5 แห่งของสวนลุมฯ คือบึงน้ำรอบเกาะลอย 50 ตัว, ริมรั้วตามแนวคลองน้ำถนนพระรามสี่ 60 ตัว, สะพานลอยสวนปาล์ม 30 ตัว, ริมคลองน้ำถนนวิทยุ 40 ตัว และบริเวณสะพาน หอนาฬิกา 30 ตัว

ผอ.สำนัก สิ่งแวดล้อมกล่าวต่อว่า ตัวเงินตัวทองมีขนาดใหญ่ ตัวโตเต็มวัยมีตั้งแต่ขนาด 1-3 เมตร ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียน และมีอุบัติเหตุจักรยานสะดุดล้ม เนื่องจากตัวเงินตัวทองวิ่งขวางทาง การร้องเรียนดังกล่าว แม้จะมีสถิติไม่มาก แต่ด้วยสวนลุมฯ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จึงต้องเป็นสถานที่ที่สร้างความสบายใจให้แก่ผู้มาใช้บริการ ดังนั้น การมีตัวเงินตัวทองออกมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญ จึงเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

“ยอมรับว่า กทม.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานอย่างตัวเงินตัวทองเป็นพิเศษ และยังไม่ได้ศึกษาถึงจำนวนตัวเงินตัวทองที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สวนลุมฯ ว่าควรจะมีไม่เกินกี่ตัว แต่เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน กทม.ก็ต้องจับตัวเงินตัวทอง ออกบางส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย แม้ว่าตัวเงินตัวทองจะเป็นส่วน บ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่หากมีมากจนเกินไป ก็จะกระทบกับส่วนอื่นๆ ได้ เพราะตัวเงินตัวทองบางส่วนทำลาย ตลิ่ง และทำลายแปลงดอกไม้ ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพพื้นที่” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมกล่าว

นาง สุวรรณากล่าวต่อว่า ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ กทม.ตั้งเป้าจับให้ได้ 40 ตัว โดยใช้ปลาเป็นเหยื่อล่อออกมาจากแหล่งน้ำต่างๆ เมื่อจับได้แล้วจะนำไปเลี้ยงไว้ในกรงที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่ผ่านมา กทม.นำไปเพาะเลี้ยงยังสถานที่ดังกล่าวแล้ว 87 ตัว ส่วนข้อเสนอของนักวิจัย หรือนักวิชาการด้านสัตว์ที่มีความเห็นให้กทม.ควบคุมปริมาณตัวเงินตัวทองด้วย วิธีการอื่นๆ อย่างเช่นการเก็บไข่นั้น แต่ด้วยสภาพพื้นที่สวนลุมฯ ทำให้การหาไข่มีความยาก อีกทั้งระยะฟักไข่ของตัวเงินตัวทอง ใช้เวลา 50 วัน การผสมพันธุ์เกิดขึ้นปีละ 2-3 ครั้ง จึงวางไข่ได้บ่อยครั้ง

ผอ.สำนัก สิ่งแวดล้อมกล่าวอีกว่า แต่จากนี้ กทม.จะประสานงานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแนวทางดูแลระบบนิเวศพื้นที่สวนลุมฯ และการจัดการกับตัวเงินตัวทองให้เกิดความสมดุลกับสภาพพื้นที่มากขึ้น ในอีก 10 ปีจากนี้ สวนลุมฯ จะมีอายุครบ 100 ปี กทม.จึงมีแนวทางพัฒนาสวนลุมฯ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ ปรับปรุงพื้นที่กิจกรรม และปลอดภัยในการใช้พื้นที่ มุ่งหวังให้สวนลุมฯ เป็นสวนสาธารณะอันดับโลกอีกด้วย

ด้านนายนิพนธ์ บุญญภัทโร รองประธานบริหารมูลนิธิเรารักสวนลุมพินี และอดีต ผวจ.นครศรีธรรมราช ที่ปั่นจักรยานในสวนลุมฯ เป็นเวลา 10 ปีแล้ว กล่าวแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. ตัวเงินตัวทองไม่เคยทำร้ายใคร มันเป็นเพื่อนกับเจ้าหน้าที่ทุกคนในสวนลุมฯ ตั้งแต่ยามไปจนถึงแม่ค้า ไม่เข้าใจว่าเป็นนโยบายอะไรที่ต้องทำถึงขนาดนี้ กทม.มีงานอื่นให้ทำตั้งมากมาย มาเสียเวลากับตัวเงินตัวทองกันทำไม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเงินตัวทอง หรือตัวเหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีอายุเฉลี่ย 15-20 ปี ส่วนใหญ่กินเศษซากสัตว์เป็นอาหาร ออกลูกเป็นไข่คราวละ 15-20 ฟอง ใช้เวลาฟัก 45-50 วัน วางไข่ในปลายฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จึงอาศัยอยู่ได้ในหลายๆ พื้นที่ ทั้งตามท่อน้ำ และพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากแจ้งมายังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. สรุปสถิติการจับตัวเงินตัวทองที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 50 เขตของกทม. ในปี 2558 จับได้ 2,831 ตัว และปี 2559 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. จับได้ 2,673 ตัว

ขณะเดียวกัน นายวินันท์ วิระนะ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กล่าวถึงการเตรียมพื้นที่รองรับตัวเงินตัวทองที่กทม.จับจากสวนลุมฯ ว่า ขณะนี้ที่สถานีมี 197 ตัว โดยนำมาจากสวนลุมฯ ชุดแรกเมื่อวันที่ 15 ก.ค. จำนวน 55 ตัว ชุดที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. จำนวน 32 ตัว รวม 87 ตัว ที่เหลือนำมาจาก จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร อยู่ในพื้นที่ 2 ไร่ สร้างกำแพงปูน ต่อสังกะสีเพิ่มความสูงป้องกันปีนหนี คาดว่าจะรองรับได้อีกไม่น่าจะเกิน 300 ตัว หากนำมาเต็มจำนวนรวมของเดิมที่มีอยู่ก็เกือบ 500 ตัว อาจยังพอรับได้ แต่จะอยู่ในสภาพที่แออัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน