คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ นัดแรกในสัปดาห์นี้ รัฐบาลเปิดเผยว่าเป็นการจัดโครงสร้างและมอบหมายความรับผิดชอบให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี

รวมถึงการเชิญตัวแทนจากแม่น้ำ 5 สาย ทั้งสภานิติบัญญัติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และการตั้งเป้าหมายให้เอกชนเข้าร่วม

ด้วยเหตุว่า เป้าหมายที่วางไว้นั้นเป็นอนาคตที่ต้องปฏิรูปในหลายเรื่องด้วยกัน

ในจำนวนนี้รวมถึงการขยับประเทศ จากที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 15 ปี

เนื้อหาการประชุมส่วนหนึ่งเป็นการวางแผนว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันนอกจากจะสะสางเรื่องเก่าแล้ว ยังจะสร้างโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และต้องการให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า การทำงานนี้ไม่ใช่เรื่องการปรองดองกับนิรโทษกรรมเท่านั้น

เช่น มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐจะเข้าไปจัดการบริหารพื้นที่ร่วมกับประชาชนและเอกชน ฯลฯ โดยจะเร่งรัดมาตรการให้ริเริ่มเกิดขึ้นในปีนี้ ก่อนจะส่งมอบภารกิจไปยังรัฐบาลชุดหน้าเพื่อสานต่อ

และเพื่อให้เกิดการปฏิบัติในมาตรการต่างๆ คณะทำงานจึงจะต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยให้เป็นหน้าที่ของสนช.ที่จะต้องผลักดันกฎหมายออกมารองรับ

ส่วนการตั้งคณะกรรมการสำหรับการทำงานนั้น รัฐบาลระบุว่าหากติดขัดในข้อกฎหมาย อาจจะต้องใช้มาตรา 44

ในภาวะของการเร่งทำงานของรัฐบาลต่างๆ ในเรื่องดังกล่าวนี้ และด้วยเนื้อหาของการปฏิรูปที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ จึงจะเห็นได้ว่า คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจต้องทำงานหนัก และอาจต้องใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่อยู่ในช่วงเวลาปกติ

อย่างไรก็ตาม การทำงานในเรื่องนี้จะมีลักษณะเป็นไปในลักษณะบนลงล่างอีกครั้ง เพราะเป็นการริเริ่มจากส่วนกลางลงไปยังท้องถิ่น ยิ่งเมื่อมีเวลาสั้นลง การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมยิ่งจำกัดลง

ในขณะที่การปฏิรูปที่มุ่งให้เกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเริ่มจากฐานรากคือประชาชนผ่านผู้แทนไปสู่คณะบริหาร

จะเร่งรัดหรือไม่เร่งรัดก็ต้องขึ้นกับประชาชนเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน