คอลัมน์ รายงานพิเศษ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต และตั้งเป้าทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 15 ปี จากปัจจุบันอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง

1.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การที่รัฐบาลจะสร้างความปรองดองต้องคำนึงถึงปัจจัยในหลายๆ ด้าน ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเรายังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้น ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ กับระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาล คสช.ที่ใกล้หมดวาระแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก

เพราะการที่จะปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมไม่ใช่เพียงแค่การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วมาประชุมหาทางออกร่วมกัน ต้องมองว่าคณะกรรมการเหล่านั้นมีที่มาจากไหน มาจากภาคส่วนของประชาชนหรือไม่

แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นคนในรัฐบาลที่ยังเป็นผู้ที่เล่นเกมเองทั้งหมด โดยไม่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่น ยอมรับว่ายังเห็นความพยายามในการทำงานของรัฐบาล คสช. แต่การเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการป.ย.ป.ต้องรับฟังความเห็นจากเสียงของประชาชนเป็นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะปฏิรูปประเทศเพื่อให้เกิดความปรองดองที่แท้จริง อันดับแรกต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ได้ ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกได้รับความเป็นธรรม ไม่ปฏิบัติสองมาตรฐานอย่างที่เป็นมา ทั้งในด้านนโยบาย การได้รับการบริการจากหน่วยงานราชการ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่คนในสังคม จะรู้สึกว่าแบบนี้จะยังปรองดองได้อย่างไร

อีกทั้งการมีส่วนรวมของภาคประชาชน ก็ยังน้อย ไม่เปิดกว้าง ซึ่งประชาชนจะเชื่อมั่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะจะรู้สึกว่าสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เมื่อจัดการความเหลื่อมล้ำได้แล้วก็ค่อยขยับไปทีละขั้นตอนทั้งด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ

ส่วนตัวไม่เชื่อว่าคณะกรรมการป.ย.ป.จะสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ เพราะอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าคนในคณะกรรมการยังเป็นคนในรัฐบาลโดยที่ไม่มีคนจากภายนอกเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นก็ยากที่จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

หากลองสังเกตจะพบว่าทุกเวทีแสดงความคิดเห็นที่รัฐบาลจัดขึ้นผู้ร่วมรับฟังจะน้อยมาก ยกเว้นเสียแต่ว่าเป็นพวกเดียวกัน ในขณะที่เวทีที่จัดโดยภาคประชาชนจะ ได้รับความสนใจมากกว่า เพราะเขารู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยที่ไม่มีการปิดกั้นทางความคิด

ดังนั้น อุปสรรคที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศคือ วิธีคิดหรือจุดตั้งต้นของหลักการที่ไม่เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ ไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนรวม คนส่วนใหญ่ก็เป็นคนในรัฐบาล

วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรจัดให้มีการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนจะสามารถเข้าใจปัญหาและรับฟังความเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด จนนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

2.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การจะเริ่มต้นปฏิรูปด้านใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ต้องเริ่มต้นจากกลไกที่มีอยู่ และอำนาจที่อยู่ในปัจจุบัน คือ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เป็นด้านหลัก เพราะทุกองค์กรที่กล่าวถึงนี้มีอำนาจควบคุมในทุกมิติได้อยู่แล้ว

จึงมองว่าเป็นเรื่องดีที่นายกฯ จัดตั้งคณะกรรมการป.ย.ป. ในการเอาฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ เข้ามาร่วมกันในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ประเด็นสำคัญคือในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมาเราใช้เวลาไปกับการกำหนดหัวข้อ ทิศทาง และแนวทาง ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ มาพอสมควรแล้ว เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ศึกษามาถึง 18-19 ด้านแล้ว

ประเด็นสำคัญถัดจากนี้ไปคือทำอย่างไรที่จะให้การปฏิรูปบนแผ่นกระดาษกลายเป็นการปฏิรูปประเทศที่มีผลออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งคิดว่าแม่น้ำ 4-5 สายที่มีอยู่ทราบดีอยู่แล้วว่าหัวข้อการปฏิรูปประกอบด้วยอะไรบ้าง และลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้เวลาถึง 3 ปี ในการดำเนินการปฏิรูปบนแผ่นกระดาษ

แนวทางในการกำหนดลำดับความสำคัญถ้าดูง่ายๆ คืออะไรที่คิดว่ารัฐบาลในภาวะปกติอาจจะทำได้ยาก หรือเมื่อทำแล้วอาจจะติดขัดในเรื่องปัญหาอุปสรรคของการใช้อำนาจ รัฐบาลชุดนี้เมื่อมีอำนาจเต็มอยู่ในมือ ก็ควรเร่งรัดดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ไปในทันทีก่อน

ส่วนเรื่องความปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่เราพูดกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว หลักการสำคัญคือการที่จะต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก และเห็นว่ามีแต่หลักการนี้ที่จะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย รวมทั้งจะช่วยให้สังคมเกิดสันติได้ในระยะยาว

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น เป็นหลักทั่วไปในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น การที่จะเดินหน้าสร้างความเจริญให้กับประเทศอย่างเดียว โดยไม่มองถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างของประชาชนที่เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่สังคมเป็นสุขในระยะยาวได้

ถ้ารัฐบาลนี้คิดจะเดินหน้าประเทศตามทิศทางที่วางไว้ ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่คำตอบคือจะทำอะไร และอย่างไรบ้าง ดังนั้น คณะกรรมการป.ย.ป.ต้องเร่งแสดงผลงานออกมาให้ปรากฏชัดเจน

และเห็นว่าควรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในสิ่งที่รัฐบาลทำด้วย

ส่วนผลจะออกมาอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลประมาณปีเศษนั้น ไม่สามารถตอบแทนได้ว่าสุดท้ายแล้วพอพ้นรัฐบาลนี้ไปการปฏิรูปจะก้าวหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีมิติเรื่องผลสัมฤทธิ์ที่ต้องปรากฏออกมา และตามโรดแม็ปรัฐบาลที่ว่าจะอยู่ 4 ปี ก็ต้องยอมรับว่าเวลาเลยมา 3 ปีแล้ว ถือว่าค่อนทางแล้ว เหลือเวลาที่จะปฏิรูปน้อยกว่าครึ่งทางแล้ว

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งรัดและตระหนักในประเด็นนี้ด้วย

3.สามารถ แก้วมีชัย

แกนนำภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยตั้งแต่การเขียนกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงการที่พล.อ.ประยุทธ์เตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินฯหรือคณะกรรมการชุดอื่นๆ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว

เพียงแค่มีกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็น่ากังวลแล้ว เพราะโลกหมุนเร็ว เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้ทันตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

อีกทั้งที่ผ่านมามีคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคราวละ 5 ปี แล้วก็ปรับกันที แต่รัฐบาลชุดนี้กลับกำหนดกรอบไว้ถึง 20 ปี จึงไม่แน่ใจว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว จะทำให้ประเทศก้าวหน้าหรือล้าหลัง จะขึ้นสวรรค์หรือพากันลงนรกก็ไม่รู้

การจะกำหนดกรอบอะไรที่จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศได้ยากลำบากก็ไม่ควรทำ ควรปล่อยให้ผู้บริหารของรัฐบาลแต่ละชุดได้คิดวิเคราะห์นโยบาย รวมทั้งปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของโลก ไม่อยากให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไปคิดแทนคนอื่น เพราะสิ่งที่ท่านทำเอาไว้จะกลายเป็นมรดกบาปส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

การวางอนาคตหรือกำหนดกรอบไว้ระยะยาวถือเป็นเรื่องอันตรายมาก อย่าเขียนอะไรที่ดูรุงรัง ปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้คิดหรือทำเอง เพราะเขาต้องรับผิดชอบกับประชาชนที่เลือกเข้ามา หากไม่สามารถแก้ปัญหาหรือบริหารประเทศได้ไม่ดีเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนก็จะไม่เลือก จึงเห็นว่าผิดหลักการมาตั้งแต่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

ส่วนที่รัฐบาลบอกจะเดินหน้าการปฏิรูปมากมายนั้น แต่ละด้านไม่ใช่ว่าจะใช้เวลาปฏิรูปกันแค่วันหรือสองวัน ต้องใช้เวลามากพอสมควร ตอนนี้มีอะไรที่สำเร็จแล้วบ้าง

อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมในเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์เตรียมเดินหน้าสร้างความปรองดองและความสามัคคีขึ้นในชาติ ถือเป็นเรื่องดี บรรยากาศความปรองดองควรเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป

คิดว่ารัฐบาลเดินหน้าทำแค่เรื่องปรองดองก็เพียงพอแล้ว ทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ต้องไปคิดทำเรื่องอื่น ขอเพียงแค่ให้พล.อ.ประยุทธ์สร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ผ่อนคลายเงื่อนไขต่างๆ ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ประเทศเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย

เชื่อว่าอะไรๆ ก็จะดีขึ้น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาอยู่ในขณะนี้ด้วย

4.ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการป.ย.ป. เพื่อนำประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต และตั้งเป้าทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 15 ปีนั้น ตนไม่เห็นความจำเป็นของการมีคณะกรรมการปฏิรูป เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย

เพราะประชาธิปไตย คือ การเรียนรู้ ฉะนั้นถ้าจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยต้องให้มีการเลือกตั้ง นั่นคือจุดเริ่มต้นของการกลับสู่ประชาธิปไตย

ถ้าดูในเรื่องการศึกษา ซึ่งไทยมีการพัฒนาด้านการศึกษาและให้ความรู้อยู่ก็พึงพอแล้ว และการที่คนส่วนใหญ่อยากที่จะเลือกตั้ง แสดงให้เห็นถึงจิตสำนึกที่เป็นประชาธิปไตย คืออยากได้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของตนเอง

จุดนี้สะท้อนความเข้าใจในชนชาติของระบอบประชาธิปไตยเบื้องต้น แต่ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการเลือกตั้ง กระบวนการที่จะทำอย่างไรให้คนได้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลก็เป็นประเด็นสำคัญ

ถ้าต้องการเตรียมพร้อม อีกมุมหนึ่งควรเปิดกว้างในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เปิดโอกาสให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะเยาวชน นักศึกษา ควรมีสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือในด้านต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝัง

แต่ถ้ามีการใช้อำนาจรัฐในการกดดันไม่ให้แสดงความคิดเห็น อันนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

และอีกกรณี คือ ไม่มีการเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ จึงทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง

สิ่งหนึ่งที่ควรจะเป็น คือ การลดบทบาททหารทางการเมือง จะช่วยให้พัฒนาประชาธิปไตยไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมามีการแทรกแซงของทหารอยู่ตลอด จุดนี้ก็เป็นอุปสรรค

การตั้งคณะกรรมการป.ย.ป.คงไม่นำไปสู่ความแตกต่างเท่าไหร่ ถ้าพูดถึงการปฏิรูปประเทศ ไทยมีกรรมการที่ทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปมาเยอะมาก แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ และจากข้อมูลที่มีอยู่ควรนำมาใส่ไว้ในนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการพิเศษในการขับเคลื่อน

กระบวนการประชาธิปไตยต้องเป็นระบบ คือ ระบบการปกครองประเทศ ถ้าทุกอย่างได้มีการวางโครงสร้างไว้ในแต่ละกระทรวงอย่างเป็นระบบ จะทำให้มีการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาทำงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน