คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กระบวนการ “ปรองดอง” ในภาคราชการตามแนวนโยบายของรัฐบาล และคสช. ที่เพิ่งจะเสนอขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ หลังเริ่มปีใหม่ ดำเนินไปอย่างคึกคักอย่างยิ่ง

และที่สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ผู้อยู่ในกระบวนการดังกล่าวเพิ่มขึ้น ก็คือปฏิกิริยาตอบรับจากพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์

ที่แม้จะยังมีแง่เงื่อนบางประการอยู่บ้าง แต่ก็ขานรับในหลักการ และแสดงตนว่าพร้อมจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ด้วย

แต่ข้อน่าสังเกตสำคัญของกระบวนการปรอง ดองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นมีน้อยยิ่ง

โดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองโดยตรง

ในจำนวนนี้ที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่เชื่อถือในกระบวนการปรองดองที่เกิดขึ้น ก็คือครอบครัวและญาติมิตรของผู้บาดเจ็บล้มตายในการปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่เมื่อปี 2553

ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

เพราะตั้งแต่วันเกิดเหตุมาจนถึงปัจจุบัน กระบวนการสืบค้นความจริง และการหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับผู้บาดเจ็บล้มตายดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

เมื่อไม่มีความจริงและความยุติธรรมมาเป็นพื้นฐานรองรับ จะให้หันหน้ากลับมาปรองดองหรือแกล้งลืมความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตัวอย่างจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีให้เห็นอยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกองทัพซึ่งถูกญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บถือเป็น “คู่กรณี” กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการให้เกิดความปรองดองเสียเอง

จะให้ฝ่ายที่เกิดการสูญเสียมอบความไว้วางใจ หรือเชื่อใจว่ากระบวนการนี้จะเป็นของดีมีประโยชน์ หรือสามารถลืมเลือนเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันที

ย่อมขัดต่อวิสัยและความเป็นจริงของมนุษย์

ฉะนั้น หากต้องการจะสร้างความปรองดอง ให้เกิดขึ้นจริง หน้าที่ของรัฐบาล คสช. หรือผู้รับนโยบายมาปฏิบัติที่จะต้องทำในเบื้องต้น

ก็คืออำนวยการให้เกิดความจริงและความยุติธรรมเกิดขึ้นโดยไว

จากนั้นการปรองดองจึงจะเกิดขึ้นติดตามมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน