ส.ว.ที่ห่างไกล : บทบรรณาธิการ

ส.ว.ที่ห่างไกล – การตั้งเป้าหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าจะได้ยอดผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภากลุ่มอาชีพสูงถึง 90,000-100,000 คน แต่ปรากฏว่ามี ผู้สมัครเพียง 7,210 คน พร้อมกับบรรยากาศการรับรู้ของประชาชนที่น้อยมากนั้น เป็นสิ่งสะท้อนสถานการณ์การเมืองไทยได้ส่วนหนึ่ง

ยิ่งเมื่อมีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการคัดเลือกส.ส. 1,303 ล้านบาท ยิ่งแสดงถึงความล้มเหลวในการจัดการเรื่องนี้

ความล้มเหลวที่สำคัญที่สุดคือ การที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกส.ว. เพราะกติกาถูกขีดเขียนว่า ส.ว.ต้องมาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง

อีกทั้งการแต่งตั้งยังมีเงื่อนไขการ คัดเลือกที่ห่างไกลประชาชนอย่างยิ่ง

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 269 กำหนดการสรรหาส.ว.จำนวน 250 คน เป็นกกต.คัดกรอง 200 คน และส่งให้คสช.เลือกเหลือ 50 คน

ขณะเดียวกันให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ 400 คน และให้คสช. เลือก 194 คน ส่วนอีก 6 คน มาจากบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชา การตำรวจแห่งชาติ

ขั้นตอนทั้ง 250 คน ล้วนเชื่อมโยงอยู่กับ คสช. ไม่ใช่ประชาชน

การจะให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปสู่วงจรนี้จึงแทบไม่เปิดกว้าง

จากข้อมูลของกกต. ในจำนวน 7,210 คน ที่มาสมัครเป็นส.ว. กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนสมัครสูงสุดคือ กสิกรรม 1,452 คน ตามด้วย กลุ่มศึกษาและการสาธารณสุข 1,124 คน และกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการฯ 943 คน

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม มี ผู้สมัครน้อยที่สุดเพียง 288 คน อาจเพราะคนในกลุ่มอาชีพเหล่านี้เห็นว่า การจะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในการกลั่นกรองกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ คงไม่อาจมีบทบาทใดๆ ได้มากนัก

เมื่อแบ่งผู้สมัครเป็นชายหญิง มีชาย 5,315 คน และหญิง 1,895 คน สัดส่วนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และไม่เป็นไปตามกระแสส่งเสริมสถานภาพสตรีเท่าใดนัก

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะทำให้ส.ว.เป็นกลุ่มดำเนินการทางการเมืองที่อยู่แยกจากประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน