คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ระหว่างการตั้งต้นกระบวนการปรองดองให้เป็นรูปเป็นร่าง หัวข้อที่ผู้เกี่ยวข้องพูดถึงมากคือการดึง “คู่ขัดแย้ง” เข้าสู่กระบวนการ

น่าสนใจว่าคู่ขัดแย้งนี้คือใครและฝ่ายใด เพราะข้อทักท้วงที่พูดถึงกันมากคือถ้ามุ่งปรองดองไม่ตรงจุด อาจไม่เกิดผลตามความตั้งใจ

รวมถึงอาจทำให้การเสริมสิริมงคลด้วยดอกบัวหลายสีสันที่เป็นสัญลักษณ์ของสายสัมพันธ์ปรองดองในทำเนียบรัฐบาลไม่บรรลุผล

บรรดาผู้ร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ต้องกำหนดให้แน่ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายของการปรองดองนี้คือใคร

การพิจารณาไปตามความคิดตามกรอบความเชื่อแต่ดั้งเดิม อาจมองว่าคู่ขัดแย้งเป็นกลุ่มประชาชนที่ใช้สัญลักษณ์สีเสื้อในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างกัน ไม่ว่า เหลือง แดง หรือ หลากสี

หรืออาจมองว่าเป็นพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค และมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านี้

มีบ้างที่อาจมองไปว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่ากับอำนาจเก่ากว่า หรืออาจเป็นกลุ่มชนชั้นที่แตกต่างทางสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ

ล่าสุดยังมีผู้มองว่า กลุ่มอำนาจปัจจุบัน หรือแม้แต่องค์กรอิสระก็ถือเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเช่นกัน

หากไม่มองที่ตัวบุคคล คู่ขัดแย้งทางการเมืองตลอดช่วงสิบปีมานี้เป็นคู่ขัดแย้งทางความคิด 2 แบบ

แบบแรกให้คณะบุคคลที่เชื่อว่าเป็นคนดีคนเก่งเป็นฝ่ายจัดการ ทั้งในด้านการบริหาร การตัดสินใจ ไปจนถึงทำกระบวนการปรองดองขึ้นเองด้วยความมุ่งหวังให้เกิดความสำเร็จอย่างชัดเจนและเด็ดขาด

แบบหลังคือให้ประชาชนเลือกเองว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนมาเจรจาต่อรองในเรื่องสำคัญ ซึ่งผลการตัดสินใจนั้นคงไม่มีทางสมบูรณ์แบบ หรืออาจแย่ไปเลยก็เป็นได้ หากแต่สามารถปรับแก้ได้ตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การหาจุดร่วมให้คู่ขัดแย้งทางความคิดทั้งสองแบบนี้เป็นโจทย์ที่ยากมากเพราะอยู่บนรากฐานคนละจุด

เมื่อแนวคิดแบบที่สองกำลังดำเนินอยู่ไปตามหลักการประชาธิปไตย จึงมักสะดุดลงและไร้พัฒนาการเพราะแนวคิดแบบแรก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน