หนัง 10 Years Thailand มองเมืองไทยปี พ.ศ. 2571 ดังกระหึ่ม

ในสายตาของคุณ ประเทศไทยปีพ.ศ. 2571 จะเป็นเช่นไร?

ภาพยนตร์ “10 Years Thailand” เป็นโครงการภาพยนตร์ที่สะท้อนอนาคตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ “10 Years” ของฮ่องกง ที่รวบรวมภาพยนตร์สั้นหลากเรื่องจากผู้กำกับหน้าใหม่ 5 คนเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของประเทศฮ่องกงภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีน (แน่นอนว่าภาพยนตร์ดังกล่าวถูกแบนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ได้รับคำตอบรับที่ดีจากคนดูและชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานประกาศรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์)

สำหรับ “10 Years Thailand” นั้นได้นักทำหนัง 4 คนมาร่วมนำเสนออนาคตของประเทศในจินตนาการ ได้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และจุฬญาณนนท์ ศิริผล โดยภาพยนตร์ได้รับเลือกให้ฉาย ณ เทศกาลเมืองคานส์ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

มาถึงคิวฉายในประเทศไทยบ้านเราบ้าง หลังผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจพิจารณาฯ พร้อมเรต 13+ (ภาพยนตร์ประเภทที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป) “10 Years Thailand” จะฉายที่โรงภาพยนตร์ในจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ (กรุงเทพ, ปทุมธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครราชสีมา, ภูเก็ต, อุดรธานี, ศรีสะเกษ และสงขลา) ในวันที่ 13 ธ.ค. นี้

หนังฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อคืนวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า ไม่มีเพียงแต่คอหนังเท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง นักวิชาการและนักการเมืองตบเท้ามาร่วมชมภาพยนตร์อย่างคับคั่ง

ส่วนภาพยนตร์จะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามอ่านด้านล่าง (มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน)

บรรยากาศการฉาย “10 Years Thailand” รอบปฐมทัศน์ เมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า

เรื่องแรก: Sunset โดย ผู้กำกับ อาทิตย์ อัสสรัตน์

ผู้กำกับหนังอิสระอย่าง จุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ เจ้าของผลงาน “Wonderful Town” และ “Hi-So” ส่งภาพยนตร์สีขาวดำ สะท้อนถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อตำรวจและทหารบุกแกลเลอรี่ย่านพระราม 3 และสั่งให้ศิลปินปลดชิ้นงานของตัวเองออกจากนิทรรศการ ด้วยเหตุผลที่ว่า “สุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยก”

เนื้อเรื่องของ Sunset นั้นได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายกัน คือมีทหารและตำรวจเข้ามา “ตรวจตราความเรียบร้อย” ภายในแกลเลอรี่ที่กำลังจัดแสดงนิทรรศการ “I Laughed So Hard, I Cried” ที่แสดงภาพถ่ายคนหัวเราะและร้องไห้ตามสถานที่ต่าง ๆ (นักเรียนยืนหัวเราะอยู่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจในเครื่องแบบนั่งร้องไห้อยู่ในร้านอาหาร เป็นต้น) สุดท้าย เจ้าหน้าที่ขอร้องให้ศิลปินปลดชิ้นงานบางชิ้นออกเพราะเกรงว่าจะทำให้เกิด “ความเข้าใจผิด”

อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่และศิลปินกลับเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ของพลทหารชั้นผู้น้อยและแม่บ้านของแกลเลอรี่ให้ได้ปลูกต้นรัก ทำให้ Sunset เป็นเรื่องที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู และให้ความรู้สึกอบอุ่นได้มากที่สุดในเรื่องทั้งหมด 4 เรื่อง

ผู้กำกับ อาทิตย์ เล่าว่า แม้เซ็นเซอร์ชิปหรือการควบคุมจากรัฐจะเป็นสิ่ง 2 ขั้วคือถูกและผิด (เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เขานำเสนอภาพยนตร์เป็นขาวดำทั้งหมด) แต่อาทิตย์เลือกจะแสดงให้เห็นมุมมองจากคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะมุมมองของพลทหารที่มีหน้าที่เพียงขับรถมาส่งเจ้านายที่แกลเลอรี่ “เขาอาจจะรู้สึก แต่ไม่ได้พูดอะไรออกมา” อาทิตย์กล่าว “อะไร ๆ มันไม่ได้เหมารวมง่ายขนาดนั้น”

 

เรื่องที่สอง: Catopia โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

จะเป็นยังไงเมื่อประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าถูกยึดครองโดยแมว? วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” “หมานคร” และ “เปนชู้กับผี” ส่งเรื่องราวโลกยุคดิสโทเปียที่ประชากรทั้งหมดเป็นแมว (สัตว์ที่เจ้าตัวบอกว่าเกลียด) มีเพียงมนุษย์คนเดียวเท่านั้นที่ยังอยู่รอด และพยายามอำพรางตัวเองให้แมวเชื่อว่าเป็นพวกเดียวกัน หากถูกจับได้ว่าเป็นมนุษย์ เขาจะถูกรุมประชาทัณฑ์ทันที

พูดได้ไม่ผิดว่า Catopia ต้องการจะสื่อสารถึงความแตกต่างของคนในสังคม และการกำจัด-ผลักไสคนที่แตกต่างออกไป ซึ่งถือว่าวิศิษฏ์ทำได้ดีหากเทียบกับโจทย์ของหนังที่มีเวลาจำกัดอยู่ราว ๆ 20 นาทีเท่านั้น

จุดที่ต้องขอชมคือหนังสามารถทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครที่เป็นมนุษย์ รู้สึกอึดอัดและหวาดระแวงไปพร้อม ๆ กันได้ ส่วนจุดที่ยังรู้สึกตะหงิด ๆ กับภาพยนตร์คงไม่พ้นเทคโนโลยีซีจีคนหัวแมว (ที่วิศิษฏ์บอกว่าควักเงินในกระเป๋าตัวเองมาลงทุน) ที่ยังไม่สมจริงเท่าไรนัก (หรือจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับเองที่ไม่อยากให้มีความสมจริงในภาพยนตร์เรื่องนี้?)

 

เรื่องที่สาม: ท้องฟ้าจำลอง (Planetarium) โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

เรียกได้ว่ามีความหวือหวาด้าน visual หรือภาพมากที่สุดใน 4 เรื่องทั้งหมดสำหรับ “ท้องฟ้าจำลอง” ของ เข้-จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่เลือกจะไม่นำเสนอบทพูดเลย แต่กลับใช้ประโยชน์จากภาพและเสียงในการเล่าเรื่อง สามารถเสียดสีโครงสร้างของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

ภาพยนตร์แนวไซไฟแฟนตาซี แต่กลับใส่ “ความเป็นไทย” ลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกความตื่นตาตื่นใจ (และเสียงแค่นหัวเราะ) จากคนดูได้ไม่น้อย เมื่อตัวละครเด็กหญิง-ชายในชุดลูกเสือสามัญอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำอย่างคุณป้าทรงผมกระบังลมในชุดสีชมพูพอง ๆ (สาวกแฮร์รี่ พอตเตอร์อดไม่ได้ที่จะนึกถึงศาสตราจารย์โดโลเรส อัมบริดจ์)

เมื่อมีคนดูตั้งคำถามว่าป๊อบอาร์ตสีสันฉูดฉาดจากยุค 80s – 90s ในเรื่องกลายมาเป็นจินตนาการของผู้กำกับสำหรับประเทศไทยในอนาคตได้อย่างไร จุฬญาณนนท์ตอบว่า “อนาคตอาจจะย้อนรอยไปสู่อดีตก็ได้” พร้อมเสริมว่าเขาอาจจะเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายที่เลือกจะนำเสนออนาคตของไทยออกมาในรูปแบบนี้ นอกจากนี้ จุฬญาณนนท์กล่าวว่าเขาเองก็ไม่ต่างจากเด็กไทยอีกหลาย ๆ คนที่เติบโตมาในโรงเรียนที่นักเรียนถูกอบรมให้เชื่อถือยึดมั่นในคุณธรรมความดี นำไปสู่การตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราถูกสั่งสอนมานั้นคือสิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ หรือไม่

 

เรื่องที่สี่: Song of the City โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ยังคงลายเซ็นของเขาเอาไว้อย่างเคย ผู้กำกับ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ส่งภาพจินตนาการอนาคตของประเทศไทยเอาไว้ผ่านชาวบ้านในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของเขาเอง

รายล้อมอนุสาวรีย์และรูปปั้นนูนต่ำยกย่องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการทางทหาร (ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังคงอยู่ ในภาพคิดของอภิชาติพงศ์) ชายสองคนนั่งรำลึกความหลังก่อนจะต้องแยกย้ายไปตามเส้นทางชีวิต พ่อค้าซักซ้อมคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขายหน้ากากนอนหลับสบาย บทสนทนาเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ สลับไปมากับเสียงวงโยธวาฑิตบรรเลงเพลงชาติไทย

นับว่า Song of the City เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากที่สุด โดยเฉพาะกับคนดูที่ไม่เคยชมภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของอภิชาติพงศ์มาก่อน ยิ่งถ้าหากไม่รู้ปูมหลังของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับ “คุณูปการ” ที่เขาสร้างไว้ให้จังหวัดขอนแก่นจนได้รับการยกย่องถึงทุกวันนี้ด้วยแล้ว ก็คงต้องเกาหัวงง ๆ ให้กับเรื่องนี้

หนัง 10 Years Thailand

“10 Years Thailand” จะเริ่มฉายตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. เป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเพจเฟซบุ๊ก 10 Years Thailand

++++++++++++++++++++++++++

อ่านเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ : Thai Filmmakers Predict Country’s Future in ‘10 Years Thailand’

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน