บทบรรณาธิการ : สำนวนมุมดำ

สำนวนมุมดำ : แม้เหมือนมีความพยายามซึ่งทราบที่มาบ้าง และไม่ทราบบ้าง ต้องการให้คดี 99 ศพ ยุติลงโดยไม่มีการดำเนินคดีเอาผิดผู้กระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บและพิการ แต่นั่นยิ่งทำให้ความต้องการนั้นบรรลุผลได้ยาก

ไม่เพียงเพราะเทคโนโลยีสำหรับใช้ประกอบการสอบสวนและพิสูจน์ทราบก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ หากการรับรู้รับทราบของคนในสังคมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 นั้นกว้างและลึกเกินกว่าจะมองข้ามและลืมๆ กันไป

เมื่อประกอบกับเหตุการณ์นี้เคยเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ข้อค้างคาใจญาติผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์จึงย่อมละลายหายไปไม่ได้

คดีความตาย 99 ศพที่ผ่านพ้นมา 8 ปี มีข้อมูลว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนให้ศาลไต่สวนเพียง 20 กว่าราย แต่อีกกว่า 70 ราย ยังไม่ยื่น โดยให้เหตุผลว่าเป็นความเห็นแตกต่างกันของเจ้าหน้าที่ บางส่วนเห็นว่าต้องยื่นศาลไต่สวนสาเหตุการตายทั้งหมด บางส่วนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยื่นศาลไต่สวนการตาย

ความเห็นที่แตกต่างกันของเจ้าหน้าที่จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อยุติ ตามข้อกฎหมายเดียวกัน และทำบนพื้นฐานที่คำนึงถึงจิตใจของญาติ ผู้สูญเสีย และคำนึงถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์

ด้วยคุณธรรมเรียบง่ายนี้ การจะโยนสำนวนคดีใดเข้าสู่สำนวนมุมดำ หรือสำนวนที่ยุติการไต่สวนด้วยข้ออ้างว่าไม่สามารถหาผู้กระทำความผิด คงเกิดขึ้นไม่ได้

ความตาย 99 ศพอาจเป็นคดีใหญ่ที่มีจำนวนมากและแต่ละกรณีมีรายละเอียดมากมาย แต่ก็เป็นคดีที่ต้องผลักดันให้เดินหน้าไปตามขั้นตอนอย่างที่ควรจะเป็น

มีข้อเสนอจากกลุ่มผู้สูญเสียว่าให้ดีเอสไอใช้สำนวนไต่สวนการเสียชีวิต 6 ศพภายในวัดปทุมวนารามฯ เป็นจุดเริ่มต้นก่อน เนื่องจากในสำนวนระบุชัดถึงการเสียชีวิตอย่างไร

การหาตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการ ปฏิบัติการวันเกิดเหตุบนรางรถไฟฟ้าไม่ใช่เป็น เรื่องยากสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจจริงของเจ้าหน้าที่รัฐ

ไม่เกิดความแคลงว่ามีการประวิงเวลาและยัดเยียดให้สำนวนเข้าสู่มุมดำ ด้วยความใจดำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเอสไอ ยอมรับ! งดสอบคดี 99 ศพ ไม่รู้ใครยิง จับได้แต่’ลูกน้องเสธ.แดง’

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน