กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง : รายงานพิเศษ

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียงสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งส.ส. โดยมีข้อกำหนดคือ ผู้สมัครส.ส.เขต จัดทำแผ่นป้ายคัตเอาต์หาเสียงของตัวเองได้ จำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต

ขณะที่พรรคการเมืองสามารถจัดทำป้ายคัตเอาต์หาเสียงได้เอง จำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต โดยในส่วนของกกต.จัดทำแผ่นป้ายหาเสียงขนาด A3 ให้ผู้สมัครแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน ขนาดและสถานที่ติดตั้งป้ายขึ้นอยู่กับ กกต. กำหนด

ส่วนรถหาเสียง ผู้สมัครแต่ละเขตมีรถแห่หาเสียงได้ไม่เกิน 10 คัน ห้ามใช้รูปบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครส.ส.เขต หัวหน้าพรรค หรือว่าที่นายกฯตามที่พรรคเสนอ

สำหรับแผ่นป้ายหาเสียง กำหนดให้ใช้เฉพาะรูปผู้สมัครส.ส.เขตแต่ละเขต หัวหน้าพรรค และว่าที่นายกฯตามที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น ไม่สามารถใช้รูปบุคคลอื่น หรือผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้

ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติไม่สามารถใช้ภาพของอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หาเสียงได้ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่สามารถใช้ภาพนายชวน หลีกภัย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เช่นกัน

19 ธ.ค.นี้ กกต.นัดพรรคการเมืองหารือเรื่องหาเสียงเลือกตั้งด้วย

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง

องอาจ คล้ามไพบูลย์

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และกรรมการสรรหาผู้สมัคร

คิดว่าบุคคลใดก็ตามที่มีรายชื่อเป็นผู้สมัคส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ควรมีสิทธิ์ที่จะใช้รูปในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ เพราะบุคคลที่สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ส.ส.เขต และบัญชีนายกฯล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ระบุไว้ในกฎหมาย

การตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ก็จะพิจารณาดูจากคุณสมบัติ ความเหมาะสม ความรู้ ความสามารถ และผลงานของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดเหล่านี้ด้วย และรูปภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาเสียง เพื่อช่วยให้ประชาชนตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

การที่กกต.ห้ามอย่างนี้อาจจะมองว่า ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือบัญชีนายกฯ ถือว่าไม่ได้ยื่นใบสมัครโดยตรงตามเขตเลือกตั้งต่างๆ จึงไม่ได้เป็นผู้สมัครส.ส.โดยตรง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ไม่ถูกต้อง ถึงแม้บัญชีนายกฯ ไม่ได้ไปยื่นใบสมัครเป็นส.ส.ตามเขตเลือกตั้ง แต่ต้องถือว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง

การตัดสินใจจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดหรือพรรคการเมืองใด ขึ้นอยู่กับผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และขึ้นอยู่กับบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกฯของแต่ละพรรคด้วย

ฉะนั้นการให้สามารถใส่ภาพถ่ายหรือรูปภาพของส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ จึงไม่ควรเป็นข้อห้าม

ส่วนการห้ามเช่นนี้กระทบกับหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มากน้อยแค่ไหนนั้น เห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการส่งผลกระทบต่อพรรคหรือส่งผลเสียต่อพรรค แต่เราเรียกร้องให้กกต.ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าจะกระทบก็กระทบต่อทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง

เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น กกต.ควรทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ มากกว่าการไปฝืนทำในสิ่งที่สังคมไม่สามารถยอมรับได้ เพราะสังคมเห็นว่าเป็นข้อห้ามที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำเป็น

กรณีการห้ามขึ้นป้ายรูปนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ นั้นก็ไม่น่าอยู่ในข้อห้ามของกกต. เพราะนายชวนเป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ

หากนายชวนมีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ แล้วไม่มีปัญหาการขึ้นป้าย ก็ยังไม่รู้ว่าระเบียบของ กกต.จะออกมาอย่างไร

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง

พิชิต ชื่นบาน

ประธานที่ปรึกษากฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ

หากมองในแง่กฎหมาย กกต.อาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.พรรค การเมือง และพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.กำหนด เรื่องการหาเสียงให้เป็นไปตามมาตรา 68, 71, 80 และ 83 ซึ่งระบุเกี่ยวกับแผ่นป้ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

โดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เป็นไปด้วยประโยชน์ ให้เกิดความเที่ยงธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อย เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคของผู้สมัครและพรรคการเมือง

ดังนั้น การที่กกต.กำหนดให้ในป้ายหาเสียงมีเพียงรูปผู้สมัคร หัวหน้าพรรคและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นว่าที่นายกฯนั้น ถือเป็นอำนาจของ กกต.ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนจะเกิดความเที่ยงธรรม เสมอภาค หรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม อยากเสนอกกต.ให้พิจารณา ในส่วนของผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ให้นำรูปของบุคคลที่อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ ประกบรวมไปกับแผ่นป้ายผู้สมัครในระบบเขตด้วย ซึ่งหากแปลความตาม มาตรา 83 คิดว่าน่าจะทำได้ ไม่อยากให้ กกต.ปิดโอกาสคนกลุ่มนี้

ในส่วนที่มีการเสนอข่าวว่าจะไม่ให้มีการนำรูปนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ติดลงไปในป้ายหาเสียงนั้น ไม่ได้ติดใจในประเด็นนี้ และไม่ได้มีผลกระทบกับพรรคไทยรักษาชาติ หากมองในแง่กฎหมายทั้งสองอดีตนายกฯ ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ที่สำคัญต่อให้ไม่มีรูปของสองอดีตนายกฯ อยู่ในแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง เชื่อว่าทั้งสองท่านอยู่ในหัวใจของประชาชนอยู่แล้ว

นายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นบุคคลที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้จักกันเป็นอย่างดี และทั้งสองต่างมีการเคลื่อนไหวติดต่อสื่อสารกับประชาชนผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียโดยตลอด และคนในประเทศต่างให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งคู่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนใครจะรักจะชอบหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง

สามารถ แก้วมีชัย

คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย

มองเจตนาของกกต.ได้ 2 แง่ คือในแง่กฎหมาย อาจเป็นไปได้ว่าทั้งนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง อาจเข้าข่ายในเรื่องการชี้นำหรือครอบงำกิจการของพรรคการเมืองได้ และอาจเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้ามไปร้องเรียนได้

ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดหน้าสองอดีตนายกฯ ลงไปในป้ายหาเสียงเลือกตั้ง เพราะหน้าของสองอดีตนายกฯอยู่ในใจประชาชนอยู่แล้ว

ในอีกแง่หนึ่งหากผมนำรูปพระหรือเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ตนรักและเคารพ ติดลงไปในป้ายหาเสียงเพื่อป้องกันไม่ให้คนทิ้งขว้าง หรือแม้แต่นำรูปพ่อและแม่ติดลงไปให้คนรู้ว่าผมเป็นลูกหลานคนเชียงราย แบบนี้ทำได้หรือไม่ ผิดหรือไม่

โดยหลักไม่ควรห้าม เพราะประชาชนที่เป็นผู้ตัดสิน ย่อมรู้ดีว่าควรเลือกใคร

จึงสงสัยว่า กกต.จะคิดหรือทำอะไรให้ยุ่งยากไปทำไม กกต.อย่าจู้จี้จุกจิกห้ามนู่นห้ามนี่ อย่างเช่นเรื่องป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ที่ห้ามไปติดในที่สาธารณะ เช่น ห้ามติดตามเสาไฟฟ้า แบบนี้เข้าใจได้ แต่ถามว่าหากมีประชาชนอยากให้นำป้ายหาเสียงไปติดหน้าบ้านเขา ซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคล กกต.จะว่าอย่างไร ซึ่งกกต.ไม่ควรห้าม

ที่ผ่านมา กกต.ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสถานที่เพื่อให้ผู้สมัครติดป้ายหาเสียง สุดท้ายก็เห็นป้ายไปซุกอยู่ในป่าข้างทาง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย

หรือแม้แต่เรื่องรถแห่หาเสียงที่ห้ามไม่ให้เกิน 10 คันต่อเขตเลือกตั้งนั้น กกต.ก็ไม่ควรบังคับกัน อย่างเขตของผมเฉพาะแค่ ต.ห้วยชมภู จ.เชียงราย ต้องใช้เวลาหาเสียงถึง 3 วัน และแต่ละสภาพพื้นที่ไม่เหมือนกัน ในหนึ่งตำบล รถแห่คันเดียวคงจะไม่พอ

กกต.มีระเบียบเพื่อควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงแล้ว ควรปล่อยให้ผู้สมัครบริหารเอง จะใช้อะไรเท่าไรอย่างไรก็ได้ แต่ไม่เกินงบที่กำหนดไว้เป็นพอ ไม่ใช่จุกจิกทุกเรื่อง

เรื่องที่จะห้ามติดรูปใครลงไปในป้ายหาเสียงเลือกตั้งนั้น ผมไม่ติดใจเท่าไร และไม่ได้กระทบกับพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน เพราะคนรู้อยู่แล้วว่ารากเหง้าของเรามาจากไหน นโยบายของเราเป็นอย่างไร ประชาชนซึมซับมามากกว่า 10 ปี แต่อย่ามาตัดชื่อและโลโก้พรรคการเมืองออกจากบัตรเลือกตั้งเป็นพอ

และอยากให้ทบทวนเรื่องหมายเลขผู้สมัคร ควรใช้เบอร์เดียว บัตรเดียวกันทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายแน่นอน

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง

ศุภชัย ใจสมุทร

นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย

วันนี้ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงของระเบียบดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร คงต้องรอความชัดเจนกว่านี้

ที่ผ่านมากกต.มีแนวทางการพิจารณาร่วมกันกับตัวแทนพรรคการเมืองหลายเรื่อง เช่นเดียวกับร่างระเบียบเรื่องนี้คงต้องผ่านการหารือ

ตอนนี้เหมือนตีโพยตีพายเกินไป บางเรื่องเป็นเปลือกเป็นกระพี้ไม่ใช่แก่น เราควรชูที่ตัวนโยบายมากกว่าชูตัวบุคคลไม่ดีกว่าหรือ

ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นอย่างไรก็ตามนั้น เพราะพรรคเน้นการชูนโยบายเป็นสำคัญ

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง

กัญจนา ศิลปอาชา

หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

เรื่องนี้เป็นระเบียบที่สอดคล้องในทำนองเดียวกับกรณีห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทอะไรในพรรคการเมือง แม้แต่อดีตนายกฯที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าไม่ใช่เป็นบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรค ผู้สมัคร หรือแม้แต่บัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคก็ไม่มีสิทธิ

เชื่อว่ากรณีนี้คงไม่กระทบกับพรรค เพราะจริงๆ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็มีอดีตนายกฯ 2 คน คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กับนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว คงไม่ก้าวล่วงนำรูปท่านมาขึ้นหาเสียงอยู่แล้ว แม้กกต.จะไม่ออกระเบียบมาห้ามก็ตาม

กฎระเบียบต่างๆที่ออกมาทุกพรรคการเมืองมีสิทธิคิดและวิพากษ์วิจารณ์กันได้ว่า มีการจำกัดมากเกินไป แต่เชื่อว่า พรรคการเมืองก็ถูกกำหนดให้เล่น โดยไม่ได้กำหนดกติกาเองอยู่แล้ว จึงต้องทำตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดมา

หากกติกานี้เป็นสิ่งที่ถูกบังคับใช้กับทุกพรรคการเมืองเสมอเหมือนกันเป็นธรรม โดยไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ก็น่าจะยอมรับได้ระดับหนึ่ง

ส่วนการประชุมกับกกต.ในวันที่ 19 ธ.ค. นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคจะเป็นตัวแทนของพรรคไปร่วม แต่ห่วงอยู่อย่างเดียวคือ อยากให้กกต.จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน

ที่สำคัญกกต.ควรต้องรับฟังสิ่งที่พรรคการเมืองสะท้อน โดยเฉพาะเรื่องชื่อกับโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งที่กกต.รับปากว่าจะมีการทบทวนให้ เชื่อว่าจะมีความชัดเจนในการหารือครั้งนี้

กกต.เล็งวางกฎเหล็กป้ายหาเสียง

ชัชวาล แพทยาไทย

ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชารัฐ

ไม่รู้สึกกังวลกับข้อกำหนดดังกล่าว วันนี้ว่าที่ผู้สมัครต้องนำเสนอตัวเองทั้งเรื่องความรู้ ความสามารถ และนโยบายของพรรค ชูตัวเองเป็นหลักว่าจะเข้ามาทำอะไร เพื่อสื่อไปถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด มากกว่าการขายแบรนด์ชื่อคนอื่น หรือคนไกลตัว เพื่อสร้างกระแสให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก

การทำแบบนั้นไม่มีประโยชน์ เป็นการเมืองแบบเก่าที่ใช้การตลาดนำการเมือง มากกว่าชูตัวผู้สมัครที่ต้องไปทำงานให้ประชาชน

ระเบียบดังกล่าวเป็นผลดีที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคล

ขณะเดียวกัน อาจเกิดกระแสตีกลับให้พรรคเพื่อไทยหรือไทยรักษาชาติ เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนยังไม่ลืมอดีตนายกฯ

แต่วันนี้ประชาชนจะเลือกที่ตัวผู้สมัครมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน