มีความแตกต่างอย่างแน่นอน ระหว่างบรรยากาศการชูป้ายสำแดงความต้องการเลือกตั้งระหว่างเดือนมกราคม 2562 กับเมื่อเดือนมกราคม 2561

เป็นความแตกต่างทั้งในเชิง “ปริมาณ” และในเชิง “คุณภาพ”

เป็นความแตกต่างที่การรักษาความสงบเป็นเรื่องของตำรวจอย่างเป็นด้านหลัก แม้เชื่อกันว่าจะมีการส่งทหารแทรกซึมเข้าไปแต่ก็มิได้ออกหน้า

นั่นเพราะว่าได้มีการผ่อนปรนไม่ว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 ไม่ว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

เปิดให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนได้

อย่าได้แปลกใจหากจะมีคนจากหลายพรรคการเมืองเข้าร่วมในฐานะนักสังเกตการณ์มากยิ่งขึ้น

ต้องยอมรับว่าการชุมนุมในเดือนมกราคม 2562 มิได้มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่าการชุมนุมในเดือนมกราคม 2561 เพราะยังอยู่ในพรมแดน “อยากเลือกตั้ง”

เพียงแต่เมื่อเดือนมกราคม 2561 ไม่มีวี่แววอะไรว่าจะมีการเลือกตั้ง

ขณะที่ในเดือนมกราคม 2562 กลับจะ “เลื่อน”ออกไป

ปรากฏการณ์จากเดือนมกราคม 2561 มายังเดือนมกราคม 2562 ให้คำตอบอย่างแน่ชัดยิ่งว่า ใครที่ไม่พร้อมหรือกระทั่งไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง

ทั้งๆที่เคยย้ำแล้วย้ำอีกว่า การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

คนใดที่ออกมาบอกว่าต้อง “เลื่อน”นั่นแหละ คือ คำตอบ

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 6 มกราคม อาจเป็นเหมือนกับคำเตือน เพราะปฏิบัติการที่มีลักษณะขยายตัวอยู่ที่การประกาศชุมนุมในวันที่ 8 มกราคม มากกว่า

วันที่ 8 มกราคมน่าจะสำแดงความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

จุดที่ไม่ควรมองข้ามมิได้อยู่ที่ว่าคสช.และรัฐบาลจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อความรู้สึกและการแสดงออกของคนอยากเลือกตั้ง

หากอยู่ที่ท่าทีของ “พรรคการเมือง”

ภาพที่เห็นเมื่อวันที่ 6 มกราคม อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งและเป็นส่วนน้อย แต่ไม่แน่ว่าภาพในวันที่ 8 มกราคมจะออกมาเป็นเช่นใด

นี่ย่อมเป็นความระทึกใจยิ่งของคสช.และของรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน