พ่อแม่ลูก : บทบรรณาธิการ

พ่อแม่ลูก : บทบรรณาธิการ – กรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านจากความขัดแย้งกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวคงไม่อยากให้เกิดขึ้น

เพราะนอกจากเป็นห่วง เครียด และวิตกกังวลแล้ว ยังเกิดความเสี่ยงในสวัสดิภาพของเด็กที่อาจพบเจออันตรายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

สิ่งที่นักจิตวิทยาเด็กอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจคือ เมื่อเด็กเริ่มโตเป็นวัยรุ่น หากมองพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคู่ขัดแย้ง นั่นเป็นเรื่องธรรมดา

เนื่องจากเด็กอาจรู้สึกว่าถูกเลี้ยงด้วยการควบคุมหรือกำกับดูแลมาโดยตลอด ดังนั้นจึงแสวงหาเสรีภาพความเป็นส่วนตัว และการตัดสินใจเรียนรู้ถูกผิดด้วยตนเอง

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองอาจยังรู้สึกห่วงใย กลัวเด็กขาดความยั้งคิด ไปจนถึงกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมเดิมที่เคย มีมา

ด้วยสภาพการณ์นี้ฝ่ายผู้ใหญ่ต้องพยายามเปิดใจและปรับตัวด้วย

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้พ่อแม่รู้จักตีสนิทกับเพื่อนลูก ค่อยเข้าไปสืบถามพฤติกรรมของลูกจากเพื่อน เพื่อป้องกันความคิดนอกลู่นอกทาง

นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เช่น เงียบผิดปกติ ไม่พูดไม่คุย หรือแม้แต่เพื่อนสนิทก็ไม่คุยไม่ไปหาด้วย

ขณะเดียวกันต้องรู้จักสอนลูกให้รู้จักปฏิเสธ เมื่อถูกชักชวนไปในทางที่ไม่ควร แม้แต่บุคคลที่สนิทหรือไว้วางใจ หากชักชวนในทางที่ไม่ควรก็ต้องไม่ทำตาม

คำแนะนำดังกล่าวนี้หากใช้ในทางปฏิบัติจริง น่าจะต้องเริ่มที่การมีเวลาเพียงพอให้กับลูกตั้งแต่วัยเยาว์

ปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นอมตะสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาคือการไม่มีเวลาให้ลูก แต่การดำรงความเป็นผู้ปกครองต่อเด็กมากเกินไปจนห่างไกลจากความเป็นเพื่อน

การฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบ ควรมีคำอธิบายให้เด็กเห็นประโยชน์และทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ ดีกว่าการทำโดยถูกบังคับ

ส่วนการสร้างสังคมประชาธิปไตยในบ้านให้เด็กมีโอกาสแสดงความคิดเห็นในฐานะสมาชิกคนหนึ่งที่มีความเท่าเทียม จะช่วยป้องกันปัญหาหรือลดความขัดแย้งได้มาก

อีกทั้งจะเป็นผลดีต่อสถาบันทาง สังคมอื่นๆ ด้วย

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน