มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง – ระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประกาศกกต. 9 ฉบับ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การหาเสียงไว้มากมาย อาทิ ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงต่อคน 1.5 ล้าน ค่าหาเสียงของพรรค 35 ล้าน, การหาเสียงทางวิทยุ-ทีวี กกต.ต้องจัดสรรเวลาให้เท่านั้น หรือการดีเบตโดยแบ่งพรรคเป็น 3 กลุ่มตามสัดส่วนที่ส่งผู้สมัคร ตลอดจนห้ามช่วยซองงานบุญ-งานแต่ง

ในมุมมองพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เห็นอย่างไร

ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช

หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

เรื่องวันเลือกตั้ง ทษช.พร้อมตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.แล้ว ถ้าเลื่อนไปวันที่ 24 มี.ค.เพื่องานสำคัญก็เข้าใจ แต่อยากเรียกร้องให้กกต.ประกาศชัดเจน เนื่องจากพรรค การเมืองต้องเตรียมความพร้อม กกต.ควรมั่นคง หนักแน่น ทำงานอย่างอิสระ เพราะอีกไม่กี่เดือนนับจากนี้คสช.จะหมดอำนาจ แต่กกต.จะต้องอยู่กับพรรคการเมืองและประชาชนต่อไป จึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ทำงานอย่างเป็นกลาง

งบหาเสียงระดับพรรค 35 ล้านบาท และเขตละ 1.5 ล้านบาทนั้น ค่าใช้จ่ายแต่ละพรรคจะอยู่ระหว่าง 10-70 ล้านบาท ตามแต่การส่ง ผู้สมัคร ซึ่งทษช.พร้อมโดยมองเงินเป็นเพียงปัจจัยเสริม แผนการหาเสียงลงพื้นที่พบประชาชนที่มีความสำคัญกว่า

สำหรับมาตรการคุมเข้มการหาเสียงบนโซเชี่ยลมีเดียต้องขออนุญาตทุกครั้งนั้น กฎ กติกา ไม่มีปัญหา จะทำอย่างไรขอให้ดำเนินการอย่างเท่าเทียมกันทุกพรรค ทษช.ทำได้อยู่แล้ว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเหมือนเป็นสองมาตรฐาน พรรคหนึ่งได้เปรียบจากกฎกติกาและกลไกรัฐทุกอย่าง แต่อีกพรรคยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม กติกาต้องวางอยู่บนมาตรฐานสากล ไม่เป็นข้อครหาของชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อผลการเลือกตั้ง ออกมา

ปกรณ์ อารีกุล

โฆษกพรรคสามัญชน

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

เรื่องเงินไม่มีปัญหา พรรคสามัญชนเพิ่งก่อตั้งก็จะใช้ทรัพยากรตามที่เรามีอยู่คือทุนประเดิม 1 ล้านบาทเป็นหลัก พร้อมตั้งเป้ารับบริจาคและระดมเงินทุนผ่านการขายสินค้าท้องถิ่นให้ได้เงินถึง 3 ล้านบาท สำหรับใช้หาเสียงในเขตเลือกตั้งละ 1 แสนบาท ใน 30 เขตที่มีความพร้อมส่งผู้สมัครส.ส.

ส่วนการควบคุมทางโซเชี่ยล มีเดียนั้นเป็นอุปสรรคกับพรรคเกิดใหม่ ใช้โซเชี่ยลมีเดียในการสื่อสารซึ่งเข้าถึงคนจำนวนมากและใช้เงินน้อยได้ แม้สามัญชนจะมั่นใจเนื้อหาที่สื่อสารแต่ก็ยอมรับว่าคงสู้พรรคใหญ่ที่มีเงินทุนโหมโฆษณาได้ยากกว่า

จึงไม่เห็นด้วยที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้าข้อมูล การเลือกตั้งในต่างประเทศสื่อใหม่มีบทบาทอย่างสูงกับประชาชน อยากให้ทุกพรรคทั้งเล็กใหญ่ช่วยกันเรียกร้องส่วนนี้ด้วย มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคใหญ่พรรคเล็ก

การเลือกตั้งผ่านบัตรใบเดียวกดดันและบีบหัวใจมากอยู่แล้ว โซเชี่ยลมีเดียไม่ควรถูกควบคุม และมองไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งแต่อย่างใด หากเกรงว่าจะมีการทำผิดกฎหมายก็มีกฎหมาย อื่นๆ อย่างกฎหมายหมิ่นประมาท หรือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ขัดขวางเสรีภาพชาวเน็ตคอยกำกับอยู่ กติกาเช่นนี้สะท้อนแนวคิดอำนาจนิยมของผู้มีอำนาจ

การกำหนดสัดส่วนการออกสื่อสาธารณะโดยใช้เกณฑ์ส่งผู้ลงสมัคร ส.ส.เป็น 3 ระดับก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อพรรคเกิดใหม่และพรรคเล็ก อีกทั้งเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่ควรนำไปใช้กับหน่วยงานอื่น อย่างสถาบันการศึกษาหรือองค์กรต่างๆ ที่จะจัดกิจกรรมทางการเมืองด้วย

จุติ ไกรฤกษ์

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

นักการเมืองทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เมื่อมีเป็นระเบียบข้อกฎหมายแล้วเราก็ต้องปฏิบัติตาม การเปิดให้หาเสียงผ่านโซเชี่ยลโดยคิดเป็นค่าใช้จ่ายนั้นเรามีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีสิทธิ์ไปคัดค้าน

การที่เขาออกระเบียบมาแล้วโดยไม่ได้รับฟังความเห็นของใครเป็นปัญหาของประเทศไทยที่ระบบราชการเป็นหลัก คนที่ออกกฎกติกาเล่นกีฬาไม่เป็น แต่ในฐานะที่เราเป็นนักกีฬาก็ต้องเล่นตามกติกาที่เขาเขียน เราต้องพร้อมตามกฎกติกาที่เขียนมา พรรคประชาธิปไตยไม่มีปัญหา

การหาเสียงผ่านโซเชี่ยลต้องแจ้งให้กกต.ทราบก่อนมันคงสายไปแล้วที่จะบ่น มองว่าเป็นความหวังดีของกกต. แต่เขาไม่เข้าใจกติกาการเล่นเท่านั้นเอง กกต.มีอำนาจทุกอย่างที่กฎหมายให้กกต.ทำแต่ขอให้ทำอย่างเท่าเทียมก็พอ

การหาเสียงทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ที่จะทำได้แต่ให้กกต.กำหนดเวลาให้นั้นถือเป็นความคิดที่โบราณมาก เพราะทุกวันนี้ประชาชนติดตามข่าวสารไม่ใช่แค่ผ่านโทรทัศน์อย่างเดียวแล้ว

เช่นกันการจัดกลุ่มดีเบตพรรคการเมืองเป็น 3 กลุ่มตามสัดส่วนส่งผู้สมัครนั้น เป็นความคิดแบบระบบราชการไม่ใช่แนวคิดแบบการเมือง

เรื่องอะไรไม่เห็นด้วยเมื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้แล้วก็ค่อยไปแก้กฎหมายตามที่สมควร เพราะโทษหรือระเบียบอะไรที่ออกมามันคงช้าไปที่จะไปโต้แย้ง

ส่วนการไม่ให้ช่วยงานบุญต่างๆก็ถูกต้องจะได้ให้นักการเมืองที่ไม่มีเงินมีโอกาสสู้ แต่ก็ยังมองว่าโบราณอีกแล้ว เพราะการที่นักการ เมืองหรือคนที่รู้จักกันไปช่วยงานบุญมันเป็นวัฒนธรรมของไทย ไปแล้ว

พรรณิการ์ วานิช

โฆษกพรรคอนาคตใหม่

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

อนาคตใหม่ยืนยันตลอดว่าจะไม่ใช้เงินหาเสียงจำนวนมากเกินจำเป็น แต่ก็ยอมรับว่าเพดาน 35 ล้านบาท สำหรับแคมเปญหาเสียงนั้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางในการหาเสียง ขบวนแห่ ปราศรัยย่อย มีค่าใช้จ่ายสูง แต่พรรคพร้อมทำตามกติกาและพร้อมเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส

ส่วนค่าหาเสียงผู้สมัครเขตละ 1.5 ล้านบาท พรรคใช้ไม่ถึงอย่างแน่นอน เงินส่วนใหญ่จะไม่หมดไปกับป้ายหาเสียงจำนวนมากแต่เงินจะถูกใช้กับโซเชี่ยลมีเดียที่เข้าถึงการรับรู้ของคนในวงกว้างและราคาถูก กับการลงพื้นที่หาเสียงอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

กติกาคุมเข้มการหาเสียงในโซเชียล ก่อให้เกิดอารมณ์ขันกับบรรดาพรรคการเมืองอย่างมาก แง่หนึ่งสะท้อนถึงความไม่เข้าใจธรรมชาติการสื่อสารของสื่อสมัยใหม่ที่ราคาถูกและเข้าถึงประชาชนวงกว้าง

ตามหลักสากลการดูแลพื้นที่ออนไลน์มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำกับไว้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องวางกฎที่เสมือนกลัวพรรค นักการเมืองและประชาชน จนกกต.ต้องมีอำนาจหน้าที่ราวกับตำรวจ

การจัดเวทีออกสื่อให้พรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ส.ส.นั้น อนาคตใหม่อยู่ในพรรคขนาดใหญ่ทางหลักระดับแรกอย่างแน่นอนพร้อมส่งทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง ซึ่งก็แปลกอยู่บ้างที่กติกานี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้พื้นที่ในระดับรองลงมา เนื่องจากส่งส.ส.ไม่ถึงตามสัดส่วนที่กกต.กำหนด

วิเชียร ชวลิต

นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

ค่าใช้จ่าย 35 ล้าน เท่ากับ 350 หาร 35 ล้านบาทจำนวนเงินที่ใช้ต่อเขตประมาณ 1 แสนบาท และนำไปใช้จ้างคน 3,500 คน เพื่อช่วยหาเสียงในเวลา 30 วัน ตามเกณฑ์ก็หมดเงินแล้ว ยังไม่พอค่าจัดทำป้ายหาเสียงเลย เมื่อกกต.มีมติแล้วก็คงทำอะไรไม่ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครส.ส.เขต ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าไร

กติกาหาเสียงทางโซเชียลที่ต้องแจ้งกกต.ก่อน หากพบว่าป้ายสีพาดพิงมีโทษถึงใบแดงนั้นเป็นมุมดีที่มีหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการโจมตีกัน ใส่ร้ายป้ายสีจนเกิดความสับสนวุ่นวาย ถ้าไม่แจ้งกกต.ก่อนก็อาจเป็นคนอื่นมาสวมรอยกระทำผิดและอาจติดตามตัวไม่เจอ

เรื่องป้ายหาเสียงว่าที่ผู้สมัครสะท้อนว่ามีข้อจำกัดมากทั้งเรื่องขนาดและสถานที่ปิด แต่มองว่าเจตนาของกกต.ต้องการให้ประหยัดและ ไม่ฟุ่มเฟือยและไม่ให้เกิดการได้เปรียบกัน

เช่นเดียวกับการกำหนดเวลาหาเสียงทางวิทยุและทีวี เงื่อนไขดีเบต ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พรรคที่ส่งผู้สมัครน้อยต้องบ่นว่ามีโอกาสในการแสดงออกน้อย แต่สำหรับพปชร.ซึ่งส่งผู้สมัครครบทุกเขตก็พร้อม

ข้อห้ามผู้สมัครใส่ซองช่วยงานเป็นการป้องกันปัญหาที่จะตามมา ต้องใช้ดุลยพินิจตีความว่าใส่ซองช่วยงานต้องมีจำนวนเท่าไร อย่างไร

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

มุมมองพรรคต่อกติกาหาเสียง

ประกาศและระเบียบที่ออกมาเราสงสัยอยู่มีหลายประการ อาทิ ให้ใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ขณะนี้ยังไม่มีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง อย่างไรเสียเราเลยไม่สุ่มเสี่ยงบอกผู้สมัครว่าอย่าเพิ่งติดป้าย ติดประกาศ อะไรที่ติดไว้แล้วก็เอาลงให้รอพ.ร.ฎ.เป็นหลัก

สาระสำคัญของประกาศและระเบียบบางเรื่องยังสับสนในการตีความ ที่เห็นชัดคือประกาศและแผ่นป้ายให้ทำได้น้อยกว่าเดิม น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ทั้งๆที่เขตใหญ่กว่าเดิม

อีกทั้งดูจะลักลั่นไม่เข้าใจ เช่น อนุญาตให้มีรูปถ่ายว่าที่นายกฯ หัวหน้าพรรค สมาชิกพรรคได้บนป้ายที่ติดรถ ป้ายบนเวทีปราศรัย แต่ป้ายประกาศที่ติดทั่วๆไปไม่พูดถึง

การหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้แจ้งต่อกกต.ก่อน ผู้สมัครเกือบทั้งหมดใช้เฟซบุ๊ก ใช้ไลน์ และสื่อออนไลน์อื่นๆ ส่งข่าวสาร ส่งความคิดถึง ส่งดอกไม้ มีการแสดงความเห็นทางการเมือง ส่งนโยบายให้อ่านบ้าง วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองบ้างเหล่านี้ต้องแจ้งทั้งหมดเลยหรือไม่ หรือแจ้งเฉพาะที่เปิดเพื่อการหาเสียง ถ้ามีไลน์กลุ่มต้องแจ้งหรือไม่ การแจ้งต้องแจ้งรายละเอียดขนาดไหน

การช่วยงานตามประเพณีนิยมต่างๆ งานบวช งานแต่ง งานศพ วางหรีด เข้าใจว่าการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาอนุญาตให้ทำได้ ครั้งนี้ดูว่าห้ามหมด ต้องการตัดผู้สมัครรับเลือกตั้งออกจากประเพณีทั้งหลายอย่างนั้นหรือ หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องแอบๆ ช่วยงานหรือระเบียบแบบนี้ฝืนธรรมชาติ ฝืนต่อความเป็นจริงของสังคม บังคับไม่ได้จริง

ส่วนการดีเบตโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามจำนวนที่ส่งผู้สมัครใช้วิธีจับสลากจะเป็นธรรมมากกว่า แต่ออกมาเช่นนี้ก็ไม่ว่ากัน ติดใจแต่การสนับสนุนเรื่องพวกนี้โดยรัฐไม่ค่อยเป็นที่นิยม สู้เอกชนทำไม่ได้

รัฐจัดให้พรรคการเมืองไปหาเสียงตามสถานที่ที่รัฐกำหนดครั้งก่อนๆ คนฟังโหรงเหรง ผิดกับเอกชนเขาจัดรายการทางทีวีกลับมีคนดูคนฟังล้นหลาม คงต้องไปวิเคราะห์กันให้ดีว่าเกิดจากอะไร

ประกาศระเบียบที่ยังคลุมเครือ ไม่แน่ใจ พรรคคงจะถามไปยังกกต.เพื่อความชัดเจน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน