วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้รับทราบข่าวอันเป็นมหามงคลอีกครั้ง

เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เป็นพิธีตามแบบโบราณราชประเพณียิ่งใหญ่ หลังเว้นช่วงไปนานเกือบ 30 ปี จากครั้งพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี 2532

หลังจากสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนตุลาคม 2556 นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีที่ตำแหน่งประมุขสงฆ์ของไทยว่างเว้นลง

เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ที่วงการพุทธศาสนาถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จนก่อให้เกิดความวุ่นวายแตกแยก

ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่

จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในทางศาสนจักรและอาณาจักรคลี่คลายลง

กลับสู่โลกทางการเมือง จะเห็นบรรยากาศที่แตกต่างไป

ตลอด 2 ปี 8 เดือนภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลคสช. ความขัดแย้งทางกายภาพไม่มีให้เห็น แต่ความแตกแยกทางความคิดกลับรุนแรงกว่าเดิม

ทั้งนี้ มีการระบุว่า เนื่องจากประเทศไทยยังต้องผ่าน 2 พระราชพิธีสำคัญยิ่งใหญ่ ได้แก่ พระราชพิธีพระบรมศพ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จึงเป็นไปได้มากว่าโรดแม็ปเลือกตั้งที่ คสช.กำหนดไว้เดิมปลายปี 2560 อาจต้องเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2561 ซึ่งหลายฝ่ายเล็งเห็นถึงความจำเป็นและอยู่ในกรอบเวลาที่ยอมรับได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์ยืนยันต่อประชาชนคนไทยและต่างประเทศไว้หลายครั้งว่า ทุกอย่างยังดำเนินตามปฏิทินเดิม ตนเองและคสช.ไม่คิดสืบทอดอำนาจ

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะประสบกับความขัดข้องทางเทคนิคบางประการ ทำให้ต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อขยายเวลาประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ออกไปก็ตาม

แต่นั่นสามารถเร่งรัด เพื่อลดทอนเวลาส่วนอื่น

เช่น ขั้นตอนคณะกรรมการร่างรัธรรมนูญ (กรธ.) ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ ที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้

โดยเฉพาะ 4 ฉบับ ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.คณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว.

ในทางปฏิบัติจะลดเวลาให้สั้นลงได้หรือไม่

หลายคนมองว่า ด้วยศักยภาพกรธ.ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ประกอบกับห้วงเวลาที่ ผ่านมา ถึงรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่ประกาศใช้ก็จริง

แต่กรธ.ได้เดินหน้าจัดทำร่างกฎหมายลูกต่างๆ คืบหน้าไปมากพอสมควร ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้เตรียมพร้อมพิจารณาร่างกฎหมายลูกที่กรธ.ต้องส่งมาให้แล้วเช่นกัน

จากสภาพเตรียมพร้อมดังกล่าว เชื่อว่าหากแม่น้ำ 5 สาย เครือข่ายของคสช. ผนึกกำลังทุกท่วงท่าทำให้ ทุกอย่างเดินหน้าไปตามกรอบโรดแม็ปเดิม อาจเหน็ดเหนื่อยอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าทำได้

เพราะต่อให้เลวร้ายที่สุด ต้องต่อเวลาออกไปถึงต้นปี 2561 สังคมก็ยังเข้าใจ

เว้นเสียแต่ไม่อยากทำ เพื่อผลประโยชน์ในการอยู่ยาว

เป็นที่น่าสังเกตในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจมาตรา 44 ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือป.ย.ป.

กระแสร่างรัฐธรรมนูญและโรดแม็ปเลือกตั้งก็ถูกกลืนหายไป

ถนนทุกสายมุ่งสู่เรื่องการสร้างความปรองดองทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่

ตรงกันข้ามเคยมีการจัดทำเป็นรายงานผลศึกษา เรื่องนี้ไว้แล้วหลายฉบับ อาทิ ฉบับนายคณิต ณ นคร ฉบับนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่ก็ไม่เคยนำมาปฏิบัติจริง

ครั้งนี้การสร้างความปรองดอง มาในรูปแบบคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นเจ้าภาพ

เป็นคณะกรรมการแยกย่อยจากป.ย.ป.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานใหญ่

คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ยังแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการ 4 ฝ่าย คือ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น, คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ, คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวน การ และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์

แต่ละคณะอนุกรรมการได้ทาบทาม ดึงตัวนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังหลายคนเข้าร่วม แต่หลักๆ ยังมีทหารระดับบิ๊กของกองทัพ ไม่ว่าปลัดกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. นั่งเป็นประธานทั้งสิ้น

คณะอนุกรรมการชุดแรก ถือฤกษ์วันแห่งความรัก 14 กุมภาฯ จัดคิวเชิญพรรคการเมือง ไล่เรียงตามตัวอักษร เริ่มจากพรรค ก.ไก่ ไปถึงพรรค ฮ.นกฮูก พรรคละ 10 คน ร่วมเวทีโต๊ะกลม เสนอความเห็นสร้างความปรองดอง

พร้อมกับจัดเวทีในส่วนภูมิภาค มอบให้แม่ทัพภาคที่ 1-4 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัด รับผิดชอบรับฟังความคิดเห็นของทุกภาค คู่ขนานกันไป

กับอีกประเด็นที่มีความพยายามจุด แต่ก็จุดไม่ติด

กรณีข่มขู่ลอบสังหารผู้นำรัฐบาล ที่มีการโพสต์ข้อความผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก

โดยมีความพยายามจะขยายความชี้เป้าไปยังกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่หลบหนีคดีหมิ่นสถาบัน ไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งการเปิดประเด็นดังกล่าวออกมามีผลกระทบในหลายทาง

หากเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องโจ๊ก

ก็สามารถเรียกคะแนนความเห็นใจให้ผู้นำรัฐบาลที่ตกเป็นเป้าหมายถูกขู่ฆ่า ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร

แต่ขณะเดียวกันผลเสีย คือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เสียขวัญ เพราะขนาดผู้นำรัฐบาลทหารยังถูกขู่ฆ่าได้ง่ายๆ ไหนยังทำให้ต่างประเทศขาดความมั่นใจในความปลอดภัย ไม่กล้าเข้ามาลงทุน

สุดท้าย ถ้าเรื่องขู่ฆ่าท่านผู้นำเป็นเรื่องจริง จะเป็นสัญญาณชัดเจนบ่งบอกว่า การสร้างความปรองดองที่รัฐบาลคสช.พยายามทำอยู่ ไม่สำเร็จได้โดยง่าย

เมื่อยังปรองดองกันไม่ได้ ก็อาจมีการ ฉวยโอกาสเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป อ้างว่าสถานการณ์ยังไม่สงบเรียบร้อย

ประกอบกับการยื้อเตะถ่วงร่างกฎหมายลูก

โอกาสที่เส้นทางกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของไทยจะทอดยาวไปจนถึงกลางปี 2561 จึงมีความเป็นไปได้สูงยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน