คอลัมน์ รายงานพิเศษ

การดึงตัวคนดังจากภาคนักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สร้างความฮือฮาพอสมควร

เพราะชื่อที่ปรากฏเป็นนักธุรกิจระดับต้นๆ ของเมืองไทย ทั้ง นายบัณฑูร ล่ำซำ จากกสิกรไทย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการอังค์ถัด ที่จะร่วมในกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ

นายกานต์ ฮุนตระกูล จากเอไอเอส อยู่ในกรรมการเตรียมการบริหารราชการแผ่นดิน และกรรมการเตรียมยุทธศาสตร์ชาติ

นายชาติศิริ โสภณพนิช จากธนาคารกรุงเทพ ร่วมในกรรมการเตรียมยุทธศาสตร์ชาติ

ยังมีรวม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เข้าร่วมด้วย

ในขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี และนายคณิต ณ นคร เพียงส่งตัวแทนเข้าร่วม

ในมุมมองของนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์การเมือง มองการเข้าร่วมในป.ย.ป.ของบุคคลเหล่านี้อย่างไร

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

อักษรศาสตร์ จุฬาฯ

กรณีรัฐบาลทาบทามคนนอกทั้งนักธุรกิจและนักวิชาการร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาในป.ย.ป. แน่นอนว่าเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

เพราะการสร้างความปรองดองที่แท้จริงคือการสร้างประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่บ้านเมือง ไม่ว่าจะเชิญใครเข้ามาเป็นกรรมการมีแต่จะขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ ไม่ตรงตาม เป้าหมายที่จะสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง

ในส่วนของกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีชื่อนายศุภชัย ร่วมเป็นกรรมการ ส่วนตัวคงไม่ช่วยทำให้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจดีขึ้น

เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ปัญหาสำคัญคือโลกในปัจจุบันเป็นโลกที่เป็นประชาธิปไตย การที่รัฐบาลไม่สามารถเจราจาทางการค้าได้เพราะต่างชาติติดใจว่าระบบทางการเมืองของเราไม่เป็นประชาธิปไตย

และเมื่อพูดถึงคำว่ายุทธศาสตร์ชาติเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหมายถึงอะไร ส่วนตัวเห็นว่าหมายถึงการสร้างประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ จึงนึกไม่ออกว่าหากเป็นเรื่องอื่นยุทธศาสตร์ชาติจะหมายถึงอะไร นอกจากการให้ทหารกลับกรมกองแล้วสร้างประชาธิปไตย

ถ้าเราพูดว่ายุทธศาสตร์ชาติคือการเป็นเผด็จการไปอีก 20 ปี อยากถามว่าแบบนี้จะเรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติได้หรือไม่ เพราะการเป็นเผด็จการไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร

ส่วนการที่นายบวรศักดิ์ตอบรับเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ อยากอธิบายว่าภายใต้ข้ออ้างการปฏิรูปกว่า 2 ปีที่ผ่านมา หากนับก่อนหน้านั้นก็สมัยการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่เสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ดังนั้น หากจะปฏิรูปกันใหม่ถามว่าที่ผ่านมาเรามัวทำอะไร เรามีทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ขณะนี้ก็มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แต่ปัญหาที่พบคือพวกคุณกำลังทำอะไร ปฏิบัติได้จริงหรือไม่

หากต้องการปฏิรูปให้เป็นยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คิดว่าคนอย่างนายบวรศักดิ์ เหมาะสมหรือไม่ โจทย์สำคัญไม่ได้อยู่ที่จะตั้งใคร แต่อยู่ที่คสช.วางโจทย์การปฏิรูปประเทศไว้อย่างไร

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การที่รัฐบาลทาบทามคนนอกให้เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในป.ย.ป. ดูแล้วน่าจะเป็นแนวคิดแบบทหารโดยพยายามขอความร่วมมือเชิญบุคคลภายนอกทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ เข้ามาร่วมทำงาน พยายามทำให้เห็นว่าการดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนทุกระดับ

แต่ที่สุดก็จะสำเร็จแบบวิธีของทหารเพราะทหารคุมอยู่ทุกขั้นตอน คือจะมีข้อกำหนดออกมาเป็นข้อๆ ว่าทำอะไรไม่ได้บ้าง อะไรทำได้บ้าง เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติ

การที่รัฐบาลเชิญกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาก็จะช่วยในเรื่องของภาพลักษณ์มากกว่า แต่ผลก็ออกมาในตามกรอบแนวคิดของทหารซึ่งเป็นหลักอยู่ เพราะเขาเป็นคนยึดอำนาจมาก็ต้องรับผิดชอบ แต่จะดีหรือไม่ดีต้องดูที่ผลงาน แต่ภาพออกมา ดูดี กว้างขวางทั่วถึงทุกภาคส่วน

แต่ดูแล้วกลุ่มคนที่เชิญมาก็เสริมแค่ภาพลักษณ์เท่านั้น เพราะเอาจริงๆ ในทางปฏิบัติก็มาจากทหาร ออกแบบมาเป็นข้อบังคับ ใครต้องตกลงกันอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเอาอย่างนี้ เช่น พรรคการเมืองทำอย่างนี้ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ หรือข้าราชการทำอย่างนี้ได้ ไม่ได้ เป็นต้น จึงคิดว่าจะออกมาในรูปแบบนั้น

ส่วนที่นพ.ประเวศและนายคณิต ไม่เข้าร่วมแต่ใช้วิธีส่งแค่ตัวแทนนั้นไม่มีผลอะไร เพราะคนที่เข้ามาร่วมทำงานก็คงไม่มีบทบาทสำคัญอะไร เพราะเชื่อว่าฝ่ายกำกับมีแนวคิดหลักไว้แล้วว่าต้องเป็นอย่างไร

กรณีนายบวรศักดิ์ตอบรับเข้าร่วมในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ นายบวรศักดิ์เป็นคนขยัน ใครชวนทำงานก็ทำตลอด ยิ่งทำงานเพื่อบ้านเมืองก็ทำทั้งนั้น และคงไม่มีผลต่องานปฏิรูปที่จะออกมาตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับที่นายบวรศักดิ์ ทำไว้

สำหรับนายศุภชัย ที่เข้าร่วมในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาตินั้น ส่งผลดีในด้านภาพลักษณ์ เพราะนายศุภชัย เป็นผู้นำของไทยในระดับโลก จึงเป็นภาพดีแน่นอน และไม่คิดว่าจะเข้ามาช่วยเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เพราะเรื่องเศรษฐกิจนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นผู้ดูแล

เมื่อมองภาพรวมบอกตรงๆ ว่ายังอดคิดว่าแนวคิดและรูปแบบก็จะออกมาแบบทหาร จึงยังไม่ตั้งความหวังว่าจะเป็นอย่างไรจนกว่าจะดำเนินการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ แต่กลับเชิญภาคธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หรือที่ปรึกษาในป.ย.ป.

การปฏิรูปประเทศก็สำคัญแต่สังคมก็ให้ความสำคัญและกำลังจับตามองเรื่องการสร้างความปรองดองมากกว่า ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำหรือพยายามแก้ปัญหาไม่ค่อยถูกทางนัก

ต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากรากฐานทางการเมืองเป็นสำคัญ เวลาที่เหลืออยู่ตามโรดแม็ปก็มีไม่มากนักจึงควรมุ่งเน้นไปแก้เรื่องปรองดองเป็นสำคัญ

การเชิญนักธุรกิจเข้ามาร่วมในป.ย.ป.ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เอาเข้าจริงนักธุรกิจก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา เป็นกลุ่มทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาแม้จะไม่แสดงตัวออกมาก็ตาม

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากแค่พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่กลุ่ม กปปส. นปช.เท่านั้น เพราะภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2557 ก็เริ่มจะเกิดปัญหาระหว่างภาคประชาชนกับโครงสร้างและระบอบที่เป็นอยู่

ดังนั้นการตั้งกลุ่มนักธุรกิจมาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับมิติสร้างความปรองดองเป็นสำคัญ

นักธุรกิจคงอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาโดยหวังให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ แต่ มองว่ารัฐบาลควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจะดีกว่า เพราะในความเป็นจริงปัญหาความขัดแย้งมีรากฐานมาจากฝ่ายการเมืองเป็นสำคัญ

ในส่วนของนายบวรศักดิ์ หรือนายศุภชัย ที่เข้าร่วมในคณะกรรมการชุดต่างๆ นั้น หากการขับเคลื่อนนโยบาย ไม่สะท้อนความเป็นจริงหรือไม่เชื่อมโยงกับคนส่วนใหญ่ก็อาจจะ ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น รีบเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามโรดแม็ปแล้วปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้ามาปฏิรูปประเทศเองโดยไม่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติจากรัฐบาล คสช.มาคอยกำหนด

คำว่าปรองดองต่างฝ่ายต่างก็ตีความหมายของคำนี้ไปคนละทิศและทางแล้วและเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ยิ่งผู้มีอำนาจมากำหนดเงื่อนเวลาว่าต้องทำอะไรภายในช่วงเวลาเท่าไร มองว่าในทางปฏิบัติจะทำได้ยากเพราะปัญหาสั่งสมมานาน

งานสร้างความปรองดองเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความเข้าใจอย่างมาก ไม่ใช่การขุดคลองหรือการซื้อเรือดำน้ำที่กำหนดสเป๊กและดำเนินการจัดซื้อได้ทันที สุดท้ายกลายเป็นว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายแต่กลับช่วยอะไรไม่ได้มาก

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การเสริมสร้างความปรองดองจำเป็นต้องมีการปฏิรูปทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพราะใน 2 มิตินี้เกี่ยวพันไปกับมิติทางการเมืองที่กำลังเกิดความขัดแย้ง ส่วนหนึ่งเกิดมา จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลมาจากความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาตรงนี้จึงต้องได้รับการแก้ไขควบคู่ไปกับการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง เพื่อให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนและทรัพยากรมากยิ่งขึ้น

ประกอบกับทางรัฐบาลคสช.มุ่งเน้นการสร้างไทยแลนด์ 4.0 กระตุ้นสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายประชารัฐ ดึงภาคเอกชนขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในหลายโครงการ

การดึงตัวบุคคลจากภาคเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปภายใต้โครงสร้างป.ย.ป.จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลชุดนี้

หากเปรียบเทียบกับโมเดลของเกาหลีใต้ก็จะพบว่าใกล้เคียงกัน รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการวางตัวรัฐบาลให้อยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก แล้วให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่เป็นตัวขับเคลื่อน จนในที่สุดเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการผลักดันนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เอาชนะประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและบราซิลในตลาดโลก

เราจึงเห็นตัวบุคคลจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศเข้ามาเป็นองค์ประกอบของแนวนโยบาย ตลอดจนโครงสร้างการปฏิรูปและปรองดองของป.ย.ป. ก็เพื่อจุดมุ่งหมายเหล่านั้น

ส่วนการเลือกตัวบุคคลเข้าร่วมในกรรมการส่วนอื่นทั้งปฏิรูป ยุทธศาสตร์และปรองดอง ก็จะเห็นการตัดสินใจที่แตกต่างกันไปที่บางรายถูกนำชื่อมาใส่โดยที่ไม่ได้รับรู้ บางรายขอส่งตัวแทนเข้ามาร่วมงานแทน หรือบางรายอาจตอบรับทันที

ก็เพราะบางคนอาจคิดว่าถ้าเขาไม่ทำก็จะไม่มีคนทำ บางรายมองว่าไม่อยากมีส่วนร่วมโดยตรงเพราะรัฐบาลมีคำตอบอยู่แล้วเข้ามาก็ไม่ได้ผลักดันอะไร ต้องทำไปตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรก ส่วนบุคคลที่ตอบรับเข้าร่วมขับเคลื่อนโดยมากจะเป็นภาคเอกชนที่เห็นว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตัวบุคคลที่เข้าร่วมกับกระบวนการของป.ย.ป.คงไม่สำคัญเท่ากับการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วม ตลอดจนการสร้างการรับรู้ถึงแนวทางการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองที่ชัดเจน

ซึ่งยังต้องติดตามว่าที่สุดแล้วจะมีการสอบถามความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่ก่อนการเริ่มทำหน้าที่หรือไม่ จะชี้แจงผลการดำเนินงานอย่างไร ตลอดจนติดตามว่าการดึงภาคกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศเข้ามาจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคมไทยได้มากแค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน