คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยจะยกเลิกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัด

เพราะกรธ.วางกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ การกำกับและควบคุมโดย ป.ป.ช.ส่วนกลาง ที่เน้นทำเรื่องการเมืองระดับสูง

ขณะที่ประเด็นย่อยหรือท้องถิ่นมองว่าเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช.สามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้

นักวิชาการ อดีตคณะกรรมการป.ป.ช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีความเห็นอย่างไร

1. ประสาท พงษ์ศิวาภัย

อดีตคณะกรรมการป.ป.ช.

กว่ากฎหมายลูกจะออกมาป.ป.ช.จังหวัดคงครบวาระพอดี เท่ากับว่าถูกตัดออกไปโดยผลของกฎหมาย

ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติไม่มีการกำหนดเรื่องป.ป.ช.จังหวัดไว้ จึงไม่มีเกิดขึ้นมาโดยผลของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มี คงไม่เสียหายอะไรนัก เพราะมีสำนักงานป.ป.ช.จังหวัด ที่ทำหน้าที่หลักคือป้องกัน ปราบปราม ตรวจสอบทรัพย์สิน อยู่ครบแล้ว

และมีผู้อำนวยการป.ป.ช.ประจำจังหวัดโดยมีเจ้าหน้าที่ทุกด้านอีกกว่า 20 คน ทำงานอยู่ทุกแห่ง มีผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช.ภาค คอยดูแลกลุ่มจังหวัดทั้ง 9 ภาคอยู่แล้ว อาทิ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี อยุธยา นครปฐม สงขลา นครศรีธรรมราช ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อการทำงานของสำนักงานป.ป.ช.จังหวัด

เมื่อมีพี่เลี้ยงดูแลตามภาคอย่างนี้หากมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอัตรากำลังก็สามารถเกลี่ยกันไปได้เพื่อเสริมกำลังกันเมื่อมีคดีใหญ่ๆ ช่วยกันป้องปรามและตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ไม่มีกรรมการป.ป.ช.จังหวัดก็ทำงานไปได้

ส่วนคดีใหญ่ๆ ก็รวบรวมหลักฐานแล้วส่งมาให้ป.ป.ช.ชุดใหญ่ในส่วนกลางพิจารณาเหมือนเดิม ซึ่งถือเป็นมาตรฐานเดียว เพราะถึงอย่างไรทุกคดีต้องกลับมาที่คณะกรรมการชุดใหญ่ ถ้าแต่ละจังหวัดทำแบบเบ็ดเสร็จถึงขั้นวินิจฉัยชี้มูลความผิดเลยจะกลายเป็นหลายมาตรฐาน ตรงนี้ทำถูกแล้ว

อีกทั้งคณะกรรมการชุดปัจจุบันทำดี ที่ได้พยายามเร่งรัดและติดตาม กรรมการมีการแบ่งงานกันลงไปดูถึงพื้นที่ ให้งานเสร็จด้วยความรวดเร็วในเวลาอันสั้น ถือว่ามีผลงาน ตรงจุดนี้ก็ต้องชม

ส่วนการเพิ่มอำนาจป.ป.ช. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นในฐานะที่อยู่ร่วมในคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. … ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ยืนยันว่าในอนุกรรมการได้มีการพิจารณาตั้งแต่คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ การไต่สวน การบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบทรัพย์สิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การขัดกันแห่งผลประโยชน์

รวมถึงพยายามให้มีกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช. 9 คน (มาตรา 203) เป็นคณะกรรมการสรรหาที่เปิดเผยโปร่งใส และมีอิสระอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความเชื่อถือในการสรรหากรรมการป.ป.ช.ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ให้เกิดครหา

อนุกรรมการพยายามดูเรื่องอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ให้มีเขี้ยวเล็บในการดำเนินการกับคนทุจริต ให้รู้เท่าทันไม่เดินตามหลัง สมกับเป็นองค์กรอิสระ ทำให้การไต่สวนมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความร่วมมือกับป.ป.ช.ด้วย

ขณะเดียวกัน ต้องการให้คณะกรรมการป.ป.ช. เป็นองค์กรวินิจฉัยอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือมีความอิสระ ขจัดอุปสรรคที่จะขัดขวางกระบวนการทำงานให้หมดไป เพื่อที่จะทำคดีได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเป้าหมายที่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

กฎหมายป.ป.ช. เป็นกฎหมายหลัก ป.ป.ช.ก็เป็นองค์กรอิสระซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ถ้าวันนี้การทุจริตยังเปลี่ยนเมืองแล้วเราไม่พิถีพิถันในการเลือกสรรกรรมการป.ป.ช. ให้เป็นคนดี กล้าหาญ ไม่เป็นคนของใคร ประเทศชาติจะล้มเหลว

ที่สำคัญต้องทำให้ระดับผู้บังคับบัญชา เช่น อธิบดี ผู้ว่าฯ นายกเทศมนตรี ที่มีหน้าที่ดูแล ลูกน้องของตัวเอง ดำเนินการกับเรื่องร้องเรียน หรือเหตุอันควรสงสัยนั้นๆ อย่างแท้จริง อย่าเพิกเฉย เป็นการเพิ่มแมวให้จับหนู

เมื่อหนูมีอยู่มากจะปล่อยให้แมวอย่าง ป.ป.ช.ตัวเดียวจับคงไม่พอ จะเห็นป.ป.ช.เป็นซูเปอร์แมนอยู่คนเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่มแมวมาช่วยซูเปอร์แมนด้วย

2. เสรี สุวรรณภานนท์

ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สปท.

ในเรื่องกฎหมาย ป.ป.ช.ต้องพิจารณาถึงภารกิจ และอำนาจหน้าที่ ในเรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องเล็กให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการไป อย่างนี้ก็สามารถไม่เอาป.ป.ช.จังหวัดได้

แต่ภารกิจตรงนี้ เท่ากับไปลดอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ซึ่งควรจะให้มีความชัดเจน เพราะหากเกิดการทุจริตในส่วนของจังหวัดขึ้น แล้วจะเอาหน่วยงานไหนมารองรับหรือรับผิดชอบ

ถ้ามีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดคดี แล้วไม่มีป.ป.ช.จังหวัดก็พอได้ แต่หากงานยังเยอะอยู่ แล้วไปตัดป.ป.ช.จังหวัดออก ภารกิจป.ป.ช. กลางทำไหวหรือไม่ ถ้าทำไหวก็ไม่มีปัญหา

แต่ที่ผ่านมางานของป.ป.ช.เยอะจนทำไม่ทัน ทำให้คดีขาดอายุความจำนวนมาก ดังนั้นต้องดูภารกิจ และดูเนื้องานว่ามีมากน้อยแค่ไหน

และตอนนี้ในแต่ละจังหวัดมีสำนักงานอยู่ มีเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ในระดับจังหวัดอยู่ ตรงนี้ต้องให้ชัดเจน หากไม่มีป.ป.ช.จังหวัดแล้ว สำนักงานและเจ้าหน้าที่ควรมีอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีป.ป.ช.จังหวัด สำนักงานก็ควรตัดออกด้วย แต่จะมีผลกระทบกับเจ้าหน้าที่ปัจจุบันที่รับราชการอยู่ จะเอาไปไว้ไหน จึงต้องทำทั้งระบบไม่อย่างนั้นจะมีผลกระทบ

ส่วนที่กรธ.จะวางกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ การกำกับและควบคุมโดย ป.ป.ช.ส่วนกลาง ที่เน้นทำเรื่องการเมืองระดับสูงนั้น ต้องดูจำนวนมูลค่าเงิน มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ ตรงนี้ต้องให้ชัดเจนเช่นกัน

และหากยุบป.ป.ช.จังหวัด ภารกิจทั้งหมดจะไปอยู่ที่ป.ป.ช.กลาง ดังนั้นเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ อาจแบ่งงานบางส่วนไปให้ป.ป.ท.ทำ หรือแบ่งบางส่วนไปให้ตำรวจที่ทำคดีอาญาด้วยหรือไม่ เพราะตำรวจมีฝ่ายปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว ซึ่งต้องแยกให้ชัดทั้งประเภทคดี โดยดูผู้กระทำความผิด อัตราโทษ และความเสียหาย

หากกรธ.ยังยึดว่าไม่ควรมีป.ป.ช.จังหวัด หลักคิดคือถ้ากรธ.จะกำหนดในรูปแบบใดก็ตาม เห็นว่า 1.ป.ป.ช.ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.ต้องแก้ปัญหาเดิมที่ผ่านมา ในเรื่องคดีที่คั่งค้าง ต้องมีกระบวนการในการดำเนินคดี ต้องรวดเร็ว และไม่ให้คดีคั่งค้าง ซึ่งต้องแก้และตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้ รวมทั้งไม่สร้างปัญหาให้มีมากขึ้นกว่าเดิม

เพราะแม้ไม่มีป.ป.ช.จังหวัด ป.ป.ช.กลางก็ต้องทำงานดีกว่าเดิม ซึ่งต้องหาวิธี การให้ได้

3. อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักรัฐศาสตร์อิสระ

คำถามคือ ต้องการให้ ป.ป.ช. มีอำนาจมากแค่ไหน จะดูเฉพาะการเมืองภาพใหญ่ หรือจะดูทุกเรื่องทุกพื้นที่

เพราะที่ผ่านมาพบว่า เรื่องร้องเรียนคงค้างอยู่ในสารบบกว่า 30,000 คดี บางกรณีก็แบ่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูง จึงจำเป็นต้องมาตั้งโจทย์กันใหม่ว่า ขอบเขตของป.ป.ช.จะให้กินความในระดับไหน

แต่จากตัวอย่างดังกล่าวพบว่า หากให้มีอำนาจเหมือนเดิม เรื่องที่ดองไว้ก็อาจมีจำนวนไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับแนวทางการยุบหน่วยงาน ป.ป.ช.ระดับจังหวัด เพราะที่ผ่านมาไม่มีผลงานเด่นชัดเป็นที่รับรู้แก่สังคม กลายเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ จ้างคนจำนวนมากมานั่งกินเงินเดือนประจำ โดยไม่มีผลงาน

บางครั้งยังอาจกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ผู้มีอำนาจมีสายสัมพันธ์กันอยู่ ช่วยเหลือกัน ตามลักษณะสังคมระบบอุปถัมภ์

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การทุจริตสอบข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ จ.อุดรธานี และจ.มหาสารคาม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ตนเป็นผู้ตรวจสอบ ตามการมอบหมายของกระทรวงมหาดไทย มีสำนวน ชี้ชัดว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีบ้าง แต่จนถึงทุกวันนี้ เรื่องดังกล่าวไม่เคยคืบหน้า

ขณะเดียวกันในแง่การตรวจสอบระดับจังหวัด กระทรวงมหาดไทยก็มีศูนย์ดำรงธรรม ที่มี ผู้ว่าราชการจังหวัดคอยทำหน้าที่รับผิดชอบ ตามคำร้องเรียนของประชาชนอยู่แล้ว มีผลงานเด่นชัด ทำให้เห็นว่าหน่วยงานตรวจสอบของสังคมไทยมีอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด จนเรียกได้ว่า ใช้งบประมาณกันอย่างฟุ่มเฟือย แต่การทุจริตยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเมื่อยุบป.ป.ช.จังหวัดทิ้งไปแล้ว สำนักงานป.ป.ช.ที่ยังอยู่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่ส่วนราชการอื่นที่ยังขาดแคลนอยู่ได้

สำหรับอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ส่วนกลางก็จำเป็นต้องทบทวน เพราะมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับที่มา ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ตรงจุดนี้ควรต้องพิจารณา ให้มีกลไกการได้มาของกรรมการป.ป.ช.ที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เช่น การเลือกตั้งทางอ้อม

พร้อมทั้งส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างอาสาพัฒนาขึ้นมาช่วยดู ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก จ่ายเป็นค่าเบี้ยประชุม แทนเงินเดือนประจำ ก็จะช่วยให้การตรวจสอบการทุจริตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะอาสาเหล่านี้จะได้ทำหน้าที่ในท้องถิ่นของตัวเอง มีส่วนช่วยเหลือป้องกันการทุจริตได้อย่างดี

ดังนั้น ป.ป.ช.ควรมีการทบทวนเพื่อปฏิรูปทั้งระบบไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด แต่ต้องหมายรวมทั้งโครงสร้าง ไล่ตั้งแต่ที่มา อำนาจหน้าที่

มิเช่นนั้นก็แค่ลูบหน้าปะจมูก แบ่งแยกพวกใครพวกมัน ระบบพวกพ้องเป็นใหญ่ในสังคมที่กลัวความจริงโดยเฉพาะผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน