คอลัมน์ รายงานพิเศษ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า สมาชิกอย่างน้อย 7 คน ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจทำให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. เว้นแต่ยื่นใบลาต่อประธานสนช.

แต่เมื่อขอข้อมูลการยื่นใบลาไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้รับแจ้งว่า เป็นความลับทางราชการ

7 สนช. ได้แก่ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผอ.สำนักงบประมาณ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ

นิคม ไวยรัชพานิช

อดีตประธานวุฒิสภา

ต้องดูว่าสมาชิกสนช.ทั้ง 7 คนนั้น ทำงาน 2-3 หน้าที่หรือไม่ หากอย่างน้อยทำ 2 หน้าที่ อาจจะบกพร่องได้

แน่นอนว่าบางงานที่รับผิดชอบในหน้าที่หลักของตัวเองกับงานการประชุมฝ่ายนิติบัญญัติต้องเกี่ยวข้องกันอยู่ แต่คนที่รับผิดชอบต้องทำงานแบ่งภาค ไม่ควรมีหลายตำแหน่ง เพื่อให้ทำงานได้เต็มที่

หากมีหลายตำแหน่งจะต้องทำงาน ในตำแหน่งหน้าที่หลักของตัวเอง แล้วยังต้องทำหน้าที่พิเศษด้วย การจะให้งานที่เกี่ยวข้องกันประชุมตรงกับวันประชุมสนช. เป็นเรื่องยาก เพราะมีหน่วยงานที่ต้องประชุมเยอะ จึงอยู่ที่ ความรับผิดชอบ และอยู่ที่สามัญสำนึกของผู้ดำรงตำแหน่ง นั้นๆ ว่าจะให้ความสำคัญกับหน้าที่อย่างไร

ที่ผ่านมาสมัยที่ตนเป็นประธานวุฒิสภา เป็น สภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ค่อยมีการขาดประชุมเท่าไหร่ เพราะผู้ที่เป็น ส.ว. ไม่มีงานประจำ แต่มีบ้างที่ติดภารกิจประชุมในส่วนอื่นๆ หรือธุรกิจของ ตัวเอง

การที่สนช.ทำงานควบตำแหน่งอื่น จะเป็นจุดอ่อนได้ จึงอาจต้องปรับวิธีการทำงานของตัวเอง โดยดูว่าเรื่องใดควรให้ความสำคัญแค่ไหน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องเลือกทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้งานที่ออกมาเกิดประสิทธิภาพ

ส่วนงานประจำอาจจะต้องมอบหมายให้คนอื่น ทำบ้าง และจำเป็นต้องแบ่งเวลา บริหารเวลาให้เหมาะสม

กรณีที่ประธานสนช.ระบุว่า สามารถลาป่วย ลากิจได้ไม่จำกัด เพียงแค่ยื่นใบลาถูกต้องนั้น เป็นระเบียบอยู่แล้ว การขาดประชุม สมาชิกมีสิทธิลาป่วย ลากิจได้ แต่ต้องดูว่าลาบ่อยแค่ไหน ไม่ใช่ลาป่วยเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ อย่างนี้ไม่ใช่

แต่ระเบียบนี้คงไม่ใช่ช่องโหว่ที่จะให้สมาชิกฉวยโอกาสลาได้บ่อย เพราะถ้าลาป่วยเป็นประจำก็ไปอยู่โรงพยาบาลดีกว่า

ส่วนสนช.ที่เป็นข้าราชการประจำด้วย แต่ได้รับเงินเดือน 2 ทางนั้น ไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้ เดี๋ยวจะถูกย้อนว่า คุณยังรับบำนาญเลย ก็เอาเท่าที่ท่านสบายใจก็แล้วกัน

สำหรับข้อมูลการประชุมของ สมาชิกสนช.ในแต่ละครั้งต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้อยู่แล้ว เว้นแต่เป็นการประชุมลับ และขณะนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีกฎหมายรองรับอยู่แล้วก็ควรให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย

ในฐานะที่เป็นอดีตประธานวุฒิสภามา เห็นว่าการประชุมสภา ถือเป็นการแสดงความเห็นที่หลากหลายแตกต่าง การไม่มาประชุมหรือมาแล้วไม่ได้แสดงความคิดเห็น หรือศึกษารายละเอียด ผลที่ออกมาก็ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

การมีประสบการณ์ของสมาชิกอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เพราะการประชุมไม่ใช่แค่ลงมติ หากแค่ลงมติเอาใครมาเป็นก็ได้

ขณะที่ประชาชนฝากความหวัง ไว้ที่สนช. บอกว่าออกกฎหมายเร็ว ก็ดีแต่ออกมาแล้วต้องใช้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ จึงอยากให้ดูกฎหมาย ที่ออกมา ควรปรับแก้ให้เป็นประโยชน์ และใช้เวลานี้เหมาะสมแล้ว

ตรี ด่านไพบูลย์

อดีต ส.ว.ลำพูน

การขาดหรือลาประชุมของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นสภาปกติหรือสภาพิเศษ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาควบคุมอยู่แล้ว เป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในการทำงาน

การที่แต่ละคนจะติดภารกิจสำคัญเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่คนที่ทำหน้าที่ตรงนี้ต้องตระหนักว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เป็นการทำงานที่เป็นเรื่องระดับประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรขาดประชุม

หากมีความจำเป็นที่สำคัญถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น การลากิจ ลาป่วย ที่ถูกหลักราชการก็ต้องยื่นใบลา เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม คิดว่าแต่ละคนมีหน้าที่ที่ แตกต่างกัน สนช.หลายคนเป็นข้าราชการระดับสูง ภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดูแล ก็มากตามไปด้วย

ถ้าภารกิจไหนสำคัญต้องไปทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ทำบันทึกการลาให้ถูกต้องก็จบ ไม่ถือว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะงานราชการสำคัญบางอย่างต้องทำ ก็เข้าใจ

อีกทั้งการประชุมแต่ละครั้งจะมีจำนวนสมาชิกที่ร่วมประชุมอยู่ หากเกินกึ่งหนึ่งก็ ไม่เป็นปัญหา และการที่องค์ประชุมไม่ครบนานๆ ครั้งจึงจะเกิดขึ้น

การที่สภามีสมาชิกจำนวนมากก็หยุดสลับกันไปมา เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ถ้าประธานเห็นว่าให้มาประชุมเพราะมีกฎหมายสำคัญมากก็ต้องมา

ส่วนการควบตำแหน่งสนช.กับข้าราชการประจำหรือตำแหน่งอื่นๆ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือไม่นั้น ไม่อยากวิจารณ์ในมุมนั้น

เพราะเป็นเรื่องที่เขามาตามภารกิจ เฉพาะกิจ

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

เรื่องนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กำลังตรวจสอบอยู่ ผู้ตรวจการฯก็ติดตามดูการทำงานตามกลไกปกตินี้ไปว่ามีประสิทธิภาพ หรือไม่ ถ้ามีประสิทธิภาพผู้ตรวจการฯก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบทุกเรื่อง ระหว่างนี้ก็รอดูผลการตรวจสอบ ของสนช. ไม่ต้องรีบร้อนอะไร

อีกทั้งการตรวจสอบฐานละเมิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เป็นเรื่อง ของแต่ละหน่วยงานที่จะดูกันเอง ในชั้นนี้จะเห็นว่า นายพรเพชร มีความกระตือรือร้น เข้มงวดกวดขันใน เรื่องนี้

แต่หากมีคนมาร้องเรียน ก็เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ ที่จะต้องเข้าไปดู เพราะไม่สามารถหยิบยกมาพิจารณาเองได้

ส่วนการทำงานควบสองหน้าที่ทั้งข้าราชการประจำและสมาชิกสนช.เข้าข่ายขัดจริยธรรมหรือไม่ ตามกฎแล้วไม่ถือเป็นการขัดคุณสมบัติ

มองว่าเป็นการช่วยงานในยุคปฏิรูป ข้าราชการประจำอาจช่วยในเรื่องการนำข้อมูลมาช่วยการทำหน้าที่ในสภา

แต่ควรบริหารเวลาการทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น

จิตติพจน์ วิริยะโรจน์

อดีต ส.ว.ศรีสะเกษ

หากเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะมีการเก็บสถิติ กรณีที่มีสมาชิกขาดลาจำนวนมาก และแน่นอนว่าจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมากรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้ว่าการลาประชุมจะทำได้ แต่ปกติส.ว.จะไม่ค่อยลาหรือขาดประชุม เพราะทุกครั้งที่มีประเด็นสู่การพิจารณาของสภา ในฐานะที่ ส.ว.เป็นตัวแทนประชาชนจะต้องแสดงความเห็นผ่านการอภิปรายว่าประเด็นต่างๆ จะเกิดผลดีหรือผลเสียแก่ประชาชนอย่างไร

กฎหมายแต่ละฉบับที่ผ่านสภาหรือการเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ จะมีผลกระทบวงกว้างต่อประชาชน รวมถึง ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ค่อนข้างมาก

เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นฐานการปกครองท้องถิ่น ที่จะมีผล กระทบต่อคนในท้องถิ่นมาก เวลาที่ ส.ว.ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ก็ไม่อยากให้ออกไปโดยที่เราไม่มีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข เพราะร่างที่รัฐบาลส่งมาอาจเป็นแนวคิดหนึ่ง แต่ส.ส. ส.ว.อาจไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นว่าควรปรับปรุงก็ต้องอยู่อภิปราย

จึงสังเกตได้ว่าหากเป็นสภาปกติที่มาจากการเลือกตั้งโอกาสที่สมาชิกจะขาดประชุมมีไม่มาก เพราะหากกฎหมายออกไปไม่ดีหรือเลือกคนไม่เหมาะสม เราจะเสียใจภายหลัง

แต่การประชุมสนช. ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนมากร่างกฎหมายที่ส่งมา จะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงในชั้นการพิจารณาของสภา สมาชิกอาจคิดว่าจะเข้าหรือไม่เข้าประชุมสภาก็ไม่มีผล ทำให้ไม่อยากมีส่วนร่วม

ส่วนการยื่นใบลาประชุม ในการประชุมสภาสมัยหนึ่งมีเป็นร้อยครั้ง ถ้ามีภารกิจที่จำเป็นจริงก็ลาได้ ถ้าประธานอนุมัติ แต่ส่วนตัวคิดว่า ทุกเดือนได้รับเงินเดือนจากสภา ถ้าไม่มาประชุมเลยเหมือนรับเงิน แต่ไม่มาทำหน้าที่ แม้จะเป็นสิทธิแต่เขาไม่ทำกัน และแม้จะบอกมีสิทธิทำได้ แต่โดยสามัญสำนึกเราก็ไม่ทำ

เหตุผลความจำเป็นที่ระบุว่า สนช.เป็นข้าราชการผู้ใหญ่มีภาระหน้าที่ต้องดูแลมากนั้น เรื่องความเป็นผู้ใหญ่ก็เข้าใจได้ ซึ่งส.ส. ส.ว. ก็มีภารกิจในพื้นที่เช่นกัน แต่ในการประชุมสภาใช้เวลาไม่นานมาก และในหนึ่งสัปดาห์ใช้เวลาประชุมประมาณ 2 วัน คิดว่าอย่างไรก็พอ ที่จะจัดสรรเวลาได้

ถ้าถึงขั้นจัดสรรเวลาไม่ได้ ถ้าเป็นตนจะไม่ทำ เราก็ต้องเลือก หากทำงานหลายที่เกินไปจนไม่มีเวลา โดยหลักก็ต้องเลือกภารกิจที่ทำงานได้เต็มที่

ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลการประชุมต่อสาธารณะ เห็นว่าเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องดี

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน จะเห็นว่าแนวคิดตอนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 จะไม่ให้ส.ว. ควบสองตำแหน่ง เพราะการทำงาน ต้องสร้างการถ่วงดุล ซึ่งหลักการปกครองที่ดี ต้องมีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ หากข้าราชการเป็นผู้ใช้อำนาจแล้วมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วยใครจะมาตรวจสอบ

อีกทั้งเรื่องของความรอบคอบ หากมาจากหลายฝ่ายมีที่มาแตกต่างกัน โอกาสพลาด จะน้อยลง

ส่วนการรับเงินเดือนในฐานะข้าราชการประจำด้วย และสมาชิกสนช.ด้วย ปกติหลักการทั่วไป ไม่ใช่สถานการณ์พิเศษ แต่เป็นการปกครองในภาวะปกติ เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะกติกาจะบอกให้รับเงินได้ทางเดียว

ดังนั้น เหตุการณ์ไม่ปกติไม่ควรเกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นต้องเกิดขึ้นในเวลาที่สั้นมากๆ เช่น ปี 2549 คณะปฏิวัติจะอยู่แค่ปีเดียว ด้วยความที่เป็นสถานการณ์ระยะสั้น อาจหาคนมาทำหน้าที่ในสภายาก จึงเกิดการควบตำแหน่งหน้าที่

การรับรายได้สองทางก็พอเข้าใจได้ แต่พอมายึดอำนาจนานเกินไปก็เกิดปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน