อำนาจคุมสื่อ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อำนาจคุมสื่อ – ก่อนที่บอร์ด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะมีคำสั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ช่อง 21 เป็นเวลา 15 วัน สมาชิกที่เกี่ยวข้องน่าจะตระหนักได้ว่ากรณีนี้จะก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังเลือกออกคำสั่งนี้ พร้อมกับคำอธิบายว่า บอร์ด กสทช. มีความเป็นกลาง ไม่มีใครอยู่เหนือบอร์ด และไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ปัญหาของคำชี้แจงนี้ในแง่มุมของประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่ว่า บอร์ดจะมีความเป็นกลางหรือไม่เพียงใด แต่กำลังบอกว่าหากบอร์ดยังมีอำนาจหน้าที่เช่นนี้อยู่ต่อไป การกำกับดูแลสื่อ มวลชนจะไม่ใช่เรื่องของประชาชนอย่างที่ควรเป็น

เพราะบอร์ดกสทช.ไม่มีส่วนเกี่ยวโยงกับประชาชน

บอร์ด กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ระงับ การออกอากาศของวอยซ์ทีวี ตั้งแต่เวลา 00.01 น. คืนวันที่ 13-27 ก.พ. 2562 รวม 15 วัน จากต้นตอรายการ เวก อัพ นิวส์ และ ทูไนต์ ไทยแลนด์ มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงยั่วยุ ขัดกับหลักกฎหมาย

การพิจารณาให้ระงับการออกอากาศอยู่ใน กรอบพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 ห้ามออกอากาศเนื้อหากระทบความมั่นคงของรัฐ และมาตรา 64 และ 16 ประกอบกับคำสั่งคสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557

แม้บอร์ดระบุว่า การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามการร้องเรียนของประชาชนและบางองค์กร แต่เรื่องที่ต้องย้ำคือ กสทช.ไม่ได้มาจากประชาชน

คําอธิบายในการออกคำสั่งจอดำครั้งนี้ระบุ ว่า วอยซ์ทีวีกระทำความผิดในการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาทำให้เกิดความสับสน และยั่วยุให้เกิดความแตกแยก เป็นจริงหรือไม่ ควรปล่อยให้ประชาชนตัดสินเองว่าจะชมหรือไม่ชมรายการ เพื่อให้เป็นไปตามกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจ

ยิ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นช่วงฟื้นฟูเสรีภาพ ยิ่งต้องเปิดกว้างการแสดงความคิดเห็นในสื่อมวลชน

การใช้อำนาจที่เสมือนการแสดงตนว่ารู้ดีกว่าและเหนือกว่าประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่แนวทางทางประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน