คอลัมน์ รายงานพิเศษ

นอกจากการเดินหน้าปรองดองที่รัฐบาลคสช. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองในขณะนี้

ก็มีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ให้ค้นหาความจริงจากเหตุการณ์สลายการชมนุมที่นำมาสู่การสูญเสีย การบาดเจ็บล้มตาย

หากแต่มีมุมมองที่แตกต่างว่าถ้าหยิบเรื่องนี้มาพูดจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง การปรองดองไม่เกิด

นักวิชาการด้านสันติวิธี นักวิชาการที่สืบค้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงดังกล่าว และภาคประชาสังคม มองเรื่องนี้อย่างไร


1.โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

ความจริงมีหลายมุมมอง หลายการตีความและหลายวิธีการนำเสนอ เพราะฉะนั้นเอาให้ได้ในระดับหนึ่งอย่าให้ถึงกับค้นแล้วค้นอีก ก่อนหน้านี้เรามีรายงานข้อเท็จจริงมา 3 เล่มแล้ว และระหว่างนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็สอบสวนสืบสวนกันมานานแล้วก็คงจะได้ประมาณนั้น

ถ้าจะให้ได้ดีกว่านั้นก็ต้องให้คนที่เป็นผู้กระทำมา บอกความจริงกับคณะกรรมการหรือบอกกับผู้เป็นเหยื่อทราบ จึงจะได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นอีก แต่ดูท่าทางจะไม่มีคนลักษณะนี้มาพูด เพราะหาก ผู้กระทำบอกความจริงก็อาจถูกตั้งข้อหาความผิดอาญาได้

ที่ทำทำนองที่ว่านี้ได้ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของแอฟริกาใต้ซึ่งมีกฎหมายรองรับ ในบ้านเราตอนนี้ใครมาให้ข้อเท็จจริงในฐานะผู้กระทำรุนแรงก็ไม่มี ถามจากเหยื่อก็เล่าหมดแล้วแต่ไม่รู้ว่าใครทำ

ส่วนข้อเท็จจริงในแง่ของการต่อสู้ แรงจูงใจและสาเหตุต้องให้นักประวัติศาสตร์ไปค้นคว้าซึ่งมันยาก ความรุนแรงเมื่อ 14 ตุลา 6 ตุลา 17 พ.ค. และเหตุการณ์หลังๆ อีก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็ค่อยว่ากันไป

แต่เป็นการพูดถึงการให้ข้อเท็จจริง เป็นการเล่าเรื่องสู่กันฟัง แต่ต้องฟังจริงๆ ที่ผ่านมาเล่าสู่กันฟังแต่ไม่มีคนฟังเพราะไม่มีอะไรรองรับอดีต ตอนนี้ไม่มีการต่อรอง ให้สลับกันเล่าสู่กันฟังจนกระทั่งยอมเชื่อเรื่องใหม่หรือยอมลดข้อสมมติฐาน

ซึ่งมันยากเพราะบรรยากาศก็ไม่เชิญชวนจะให้เล่า แต่ก็ไม่เหนือวิสัยที่จะทำ แต่ทำภายใน 2-3 เดือนไม่ใช่คงเป็นการตั้งเข็มทิศที่จะทำมากกว่า ต้องใช้เวลาและค่อยๆ ทำ ก็จะเกิดความเข้าใจและฟื้นคืนกันได้บ้าง

การปรองดองและการค้นหาความจริงควรจะทำควบคู่กันหรือไม่นั้น ความจริงมีหลายระดับ จัดองค์กรอย่างไรก็ว่ากันไป ทุกอย่างเป็นประโยชน์ต่อการปรองดอง แต่ถ้าไม่มีเลยก็ปรองดองกันไม่สนิท ดังนั้นจะทำอะไรก็ทำไป จังหวะไหนเวลาไหนก็ค่อยว่ากันแต่ให้ขยับก่อน เพราะไม่มีกฎตายตัวว่าต้องไปทางไหน

ถามว่าหากไม่ค้นหาความจริงการปรองดองจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ก็บรรลุมากบ้างน้อยบ้าง เหมือนกับการปฏิรูปที่มีการออกแบบแล้วเอาไปปฏิบัติถึงจะบรรลุผล เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ต้องคิดให้ถูกถ้าทำดีก็บรรลุ เป้าหมายได้

ชีวิตคนเรามันสั้นเดี๋ยวก็เปลี่ยนวัยไปแล้ว อดีตให้นักประวัติศาสตร์ เขาเล่า ส่วนคนรุ่นนี้อย่าเอาความไม่ปรองดองไปฝากให้คนรุ่นหลังเลย ซึ่งทิศทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นี้ก็เห็นด้วยส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็ได้

2.วิโรจน์ อาลี

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาล คสช.ไม่ได้หลงลืมการแสวงหาความจริงจากเหตุสลายการชุมนุมต่างๆ ซึ่งมีทั้งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมากแต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเลยเสียมากกว่า

หากดูจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าไม่อยากให้มาพูดหรือหาว่าใครผิดใครถูก หรือเรื่องของการนิรโทษกรรมก็ให้ตัดออกไปได้เลย ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลชุด ต่อไปดำเนินการเอง

รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำตามกระบวนการสร้างความปรองดองเหมือนที่ ประเทศอื่นๆ ทำกัน โดยเฉพาะการค้นหาความจริงซึ่งรัฐบาลไม่ดำเนินการแม้แต่การสืบสวนสอบสวน หรือทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมามันคืออะไร

ตลอด 3 ปีของการบริหารงาน รัฐบาลคสช.ได้วางยุทธศาสตร์และเตรียมความพร้อมในด้านการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ จากนั้นก็เอาคำว่าปรองดองมาล่อนักการเมืองอย่างที่กำลังทำอยู่ โดยเชิญพรรคการเมืองต่างๆ มาหารือถึงข้อเสนอแนะและหาทางออกในเรื่องของการปรองดอง

จากนั้นทหารก็ทุบโต๊ะและขอให้ลืมเรื่องที่เกิดขึ้นกันไป เชื่อว่านักการเมืองก็แฮปปี้เพราะไม่ต้องมาฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แถมยังอาจได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น และได้เดินหน้า ต่อไปสู่การเลือกตั้งอย่างที่นักการเมืองหวังไว้

ถือเป็นการสมประโยชน์ในส่วนของระดับชนชั้นนำเพื่อเข้าสู่การ เลือกตั้งโดยเร็ว เราก็จะอยู่ในบรรยากาศของการเลือกตั้งแบบครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งเป็นระบบที่ทหารมีบทบาทมากกว่าใคร

และหากฝ่ายการเมืองปฏิเสธทหารไปเสียทั้งหมดก็อาจถูกบีบ เพราะทหารมีไพ่ตายอยู่ในมือคือถ้าไม่ยอมก็ไม่ต้องเลือกตั้ง แต่ปัญหาความ ขัดแย้งโดยเฉพาะในระดับภาคประชาชนที่สูญเสียก็จะดำรงอยู่ต่อไปเพราะไม่ได้รับการแก้ไข

ต้องยอมรับว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่เข้าสู่กระบวนการค้นหาความจริง ครอบครัวผู้ที่สูญเสียก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ที่สำคัญยังไม่มีกระบวนการรับผิดใดๆ เกิดขึ้น เชื่อว่าจุดนี้เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก

ดังนั้นรัฐบาลต้องแสวงหาความจริงจากเหตุสลายชุมนุมที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความปรองดองด้วย อย่ามุ่งแต่สร้างความปรองดองเพื่อชนชั้นนำ รัฐบาลต้องทำให้ถูก ทำให้ดี ต้องมีกระบวนการชี้ถูกผิด

ให้มีคำตอบที่ชัดเจนกับกลุ่มคนระดับล่างเพื่อให้เกิดจุดที่อยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคต ถือเป็นการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นซึ่งที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม และต้องสร้างกลไกเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก

สังคมไทยมีความสามารถในการลืมค่อนข้างง่าย อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นปัญหาการเมืองไทยที่สำคัญ จึงห่วงว่าหากไม่ค้นหาความจริงให้เกิดขึ้น สภาวะความรุนแรงลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นถี่มากขึ้น เพราะไม่มีหลักให้ยึด รวมทั้งไม่มีการพัฒนากลไกเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

แม้จะเป็นเรื่องยากอาจจะมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจแต่ก็ต้องทำ เพื่อให้เกิดตรงกลางของการอยู่ร่วมกันต่อไป

3.สมบัติ บุญงามอนงค์

บ.ก.ลายจุด

การเดินหน้าสร้างความปรองดองของรัฐบาลส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ ซึ่งตามหลักการต้องมีการค้นหาความจริงเป็นหลักการพื้นฐาน

เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้คงไม่พลาดที่จะทำเรื่องการติดตามค้นหาความจริงของเหตุการณ์ในอดีต แต่อาจให้น้ำหนักของแต่ละเรื่องมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการวางกรอบการทำงานของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา

การตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ทุกอย่างเพิ่งเริ่มได้ไม่นานจึงต้องให้โอกาสได้ทำงานดูก่อน เท่าที่ติดตามดูพบว่ามีการแสดงเจตจำนงในลักษณะเชิงเทคนิค มองอนาคตเป็นศาสตร์หนึ่งของการสร้างความปรองดองและลดความขัดแย้ง

เทคนิคการมองอนาคตเป็นสิ่งที่ยอมรับได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะลืมอดีต และเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการสร้างความปรองดองจะสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น

การสร้างความปรองดองหรือการค้นหาความจริงอย่างไหนควรดำเนินการก่อน การสร้างความปรองดองควรเริ่มก่อน เพราะเป็นการนึกถึงอนาคตว่าเราจะไม่เดินกลับไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง แต่ต้องหาทางอยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้อย่างมีความสุข นี่คือสิ่งที่เราต้องตีเส้นไว้

แม้จะเดินหน้าหาความปรองดองแต่ไม่ได้หมายความว่าจะพูดคุยโดยไม่พูดถึงเรื่องราวในอดีต วิธีการที่เหมาะสมคือการพูดถึงอนาคตมากหน่อย เพราะที่ยังขัดแย้งกันอยู่มาจากการพูดถึงเรื่องในอดีตมากไป

จึงควรพูดถึงอนาคตให้มากเนื่องจากภาพในอนาคตจะทำให้เรามีสติ เมื่อย้อนมองกลับไปความเป็นจริงก็จะเปิดเผยทุกด้านว่าแต่ละฝ่ายก็ตกเป็นเหยื่อของกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการให้อภัยและสร้างความเป็นธรรมให้แก่กัน จากนั้นค่อยทบทวนพูดคุยเรื่องในอดีต

4.พวงทอง ภวัครพันธุ์

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การปรองดองสมาน ฉันท์คือคำสวยหรูที่ชนชั้นนำไทยมักนำมาใช้เหมือนกับชาวต่างประเทศ แต่เนื้อหาและวิธีปฏิบัติไม่ใกล้เคียงกับหลักสากลแม้แต่น้อย การปรองดองสมาน ฉันท์แบบฉบับสังคมไทยคือผู้ใหญ่ถือไม้เรียวมา บอกเด็กให้นั่งตกลงกันให้ได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะถูกไม้เรียว ม.44 เฆี่ยน

อีกทั้งเรื่องที่ต้องมาพูดคุยกันก็มีอยู่หลายเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่อยากฟัง แล้วไม่จำเป็นต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญต่อสภาพของความขัดแย้งบนเวทีปรองดองที่รัฐบาลกำลังผลักดัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรม ที่เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐาน ตลอดจนการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

รัฐบาลอาจมีพูดถึงอยู่บ้าง ก็แค่ในแง่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเดินตามโรดแม็ปคสช.

สิ่งที่ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 2553 และญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รายอื่นๆ ต้องการให้แสวงหาและยอมรับ ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงให้นำคนผิดมาลงโทษ จะไม่มีทางถูกพูดถึงบนเวทีปรองดองของรัฐบาล เพราะกองทัพคือคู่กรณีของสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนั้น

มุมมองของการสร้างความปรองดองของญาติผู้สูญเสียชีวิตที่ต้องการความจริงเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นก่อนจึงนำไปสู่การยอมรับและให้อภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดอง

ทว่า คสช.ไม่ได้มองมุมนั้น แค่มองว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้เพียงแค่นำกลุ่มการเมืองหลักที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมานั่งคุยกัน หาข้อตกลงกันให้ได้ เข้าใจในโรดแม็ปที่คสช.วางไว้ก่อนเลือกตั้งแล้วเรื่องก็จะจบ

โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมและกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาเรื่องสองมาตรฐานและการเลือกปฏิบัติเลย แม้จะมีการเชิญกลุ่มมวลชนมาร่วมพูดคุยแต่ก็เชื่อแน่นอนว่าแกนนำนปช.เองก็จะไม่พูดถึงเรื่องนี้เพราะนั่นคือสิ่งที่กองทัพไม่อยากฟัง

เมื่อกระบวนการปรองดองกำลังเดินไปรูปแบบนี้ เชื่อว่าการปรองดองก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะรอบทศวรรษที่ผ่านมาวิกฤตการเมืองไทยเกิดจากการที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างลากมวลชนที่สนับสนุนมาร่วมกับเหตุการณ์ความขัดแย้งเต็มตัว ประกอบกับประชาชนจำนวนมากเองก็ตื่นตัวทางการเมืองสูงมากขึ้น แต่คสช.กลับปฏิเสธความจริงในมุมมองการสร้างความปรองดองจากคนกลุ่มนี้

กลุ่มอำนาจเดิมยังคงไม่ให้สังคมอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองด้วยตัวเองก็เพราะต้องการคงช่องว่างในการแทรกแซงการเมืองด้วยอำนาจนอกระบบ

ก็หมายความว่าวิกฤตความขัดแย้งในสังคมไทยนอกจากจะไม่ถูกแก้แล้วยังคงอยู่ต่อไปและอาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน