บทบรรณาธิการ

เอ็มวีโปรโมตท่องเที่ยวไทยที่เดินเรื่องโดยทศกัณฐ์ มีเวอร์ชั่นใหม่แล้ว โดยตัดทิ้งฉากมีประเด็นออกไปและให้สมุนยักษ์เป็นตัวแสดงแทน

กรณีนี้เป็นเรื่องถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เกิด การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นมากมาย

คล้ายกับกรณีที่มีผู้ออกแบบชุดประกวดนางงามออกมาเป็นชุดเจดีย์ทอง ที่มีผู้เตือนว่าไม่เหมาะเพราะพระศรีรัตนเจดีย์เป็นสิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า

จึงเป็นการเลือกสัญลักษณ์ในการแสดงออกที่ขัดต่อฐานานุรูปฐานานุศักดิ์

การวิเคราะห์วิจารณ์ที่ให้ข้อมูลทางวิชาการและทางสังคมจะช่วยให้สังคมเข้าใจและถกเถียงกันด้วยเหตุผลมากยิ่งขึ้น

กรณีการใช้ตัวละครทศกัณฐ์ ถูกทักท้วงว่าไม่เหมาะนั้น จึงควรมีคำอธิบายที่ชัดเจนแต่แรก และมากกว่าการระบุเพียงว่าทศกัณฐ์ เป็นราชายักษ์และโขนเป็นศิลปะชั้นสูง

เพราะอาจทำให้ผู้คนสงสัยและเปรียบเทียบกับการใช้หนุมานเป็นมาสคอตของการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

ขณะที่ตัวละครเอกทั้งสองนี้อยู่ในเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกัน และอยู่ในการแสดงโขนเช่นเดียวกัน

เพื่อให้กรณีเอ็มวีทศกัณฐ์เป็นประโยชน์มากกว่าการโปรโมตการท่องเที่ยว วงการวิชาการจึงควรต่อยอดให้ข้อมูลและถกเถียงถึงรามเกียรติ์ในฐานะวัฒนธรรมของชาติและวัฒนธรรมของอาเซียนและเอเชีย

นอกเหนือไปจากความรู้ว่า โขนเป็นการแสดงชั้นสูงและมีฐานานุศักดิ์ ทั้งหัวโขน ท่ารำ เครื่องแต่งกาย รวมถึงเพลงที่ใช้ประกอบ

เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ข้อมูลที่กว้างขวาง ขึ้นและเข้าใจวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาค มากขึ้น

จะได้เข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ที่ลึกซึ้งและมีหลายแง่มุมมากกว่าชุดความรู้ของราชการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน