คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ผลสรุปภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2559 ของสภาพัฒน์ หรือคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งแถลงอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ ว่าเศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 ถือเป็นข่าวดี

ปัจจัยช่วยทำให้ตัวเลขออกมาดีคือสาขาเกษตรกรรม สนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ 3.2% หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งสิ้นสุดลงจนส่งผลด้านลบมากว่า 2 ปี

ขณะที่การลงทุนโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 แยกเป็นการลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ร้อยละ 8.6 ส่วนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.4

เมื่อคำนวณทั้งปี 2559 การลงทุนโดยรวมขยายตัวได้ 2.8% เป็นการลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 9.9% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ร้อยละ 0.4

ตัวเลขของการลงทุนดังกล่าวเป็นตัวเลขที่กลับมาเป็นบวก เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยอาศัยการลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวผลักดันอย่างหนัก ในขณะที่เอกชนยังอยู่ในภาวะทรงๆ

การขยายตัวของเศรษฐกิจจึงถือว่าดีอย่าง ต่อเนื่องจากปี 2558 ซึ่งมีอัตราขยายตัวร้อยละ 2.9 และปี 2557 ซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 0.9

รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยปี 2559 อยู่ที่ 212,892.3 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 203,356.1 บาทต่อคนต่อปีในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 9,536 บาทต่อปี

ตัวเลขดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็น่าสนใจว่าเหตุใดบรรยากาศเศรษฐกิจในปี 2559 จึงไม่ชื่นมื่นโดยทั่วถึงกัน

สําหรับปีนี้ แนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0-4.0 น่าจะมีข่าวดีในภาคการส่งออก สภาพัฒน์จึงปรับตัวเลขคาดการณ์มูลค่าการส่งออกในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ 2.9 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี

นอกจากนี้ยังมีข่าวดีในการฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร จะช่วยเป็นปัจจัยสนับสนุน ให้ฐานรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น

ด้วยข่าวและการคาดการณ์ดีๆ ต่างๆ ที่เป็นใจนี้ จึงเหลือเพียงว่า ประชาชนจะสัมผัสข่าวนี้ในการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน