สตรีสากล

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สตรีสากล – วันสตรีสากล 8 มีนาคม เวียนมาถึงอีกครั้งให้นานาประเทศพิจารณาทบทวนถึงสภาพการณ์ของผู้หญิงในสังคม ร่วมเฉลิมฉลองและรำลึกถึงการต่อสู้ของสตรี เพื่อการได้มาซึ่งความยุติธรรม ความเสมอภาค และสันติภาพ

ประวัติศาสตร์ของวันสตรีเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าสะเทือนใจ ว่ากรรมกรหญิงของโรงงาน ทอผ้า ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างและสิทธิด้านสวัสดิการ อันพึงมี แต่ถูกลอบวางเพลิงสถานที่ชุมนุม จนกรรมกรหญิงเสียชีวิตหมู่ถึง 119 ราย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2400

แม้จุดเริ่มต้นของวันสตรีเกิดขึ้นในชาติตะวันตก แต่ความรู้สึกร่วมของผู้หญิงที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความเท่าเทียม ยุติการกดขี่และเอาเปรียบ เป็นประเด็นสากลของสตรีทั่วโลกที่ยังคงต้องต่อสู้ถึงวันนี้

กิจกรรมในประเทศไทยสำหรับวันสตรีสากล จัดทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง

เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานตอบสนองที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อเวทีโลกที่ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถานภาพสตรี และการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศให้สอดคล้องกับหลักสากล

มีการจัดงานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรที่มีผลงานดีเด่นที่ดำเนินงานด้านพัฒนาศักยภาพสตรี

ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประกาศเกียรติยศผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านชุมชน ชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

บทสรุปจากการจัดงานวันสตรีสากล สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครหรือหน่วยงานใดได้รับรางวัลหรือประกาศเกียรติคุณอย่างไร

แต่เป็นโอกาสสำหรับการศึกษาเป้าหมายและเส้นทางการต่อสู้ของผู้หญิงหรือคณะทำงานเพื่อผู้หญิงเหล่านี้

หลายๆ คนมีประสบการณ์ความสูญเสีย และถูกละเมิดสิทธิ แต่ยังคงยืนหยัดที่จะสร้างความเสมอภาค และความถูกต้องให้ปรากฏแก่สังคม

ตัวอย่างเหล่านี้ไม่เพียงมีประโยชน์สำหรับประเทศไทย แต่จะส่งผลโดยรวมต่อสตรีสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน