กลยุทธ์ของพรรคประชาธิปัตย์อันปล่อยออกมาโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งใหม่นี้ แยบยล ซ่อนเงื่อนอย่างล้ำลึกอย่างยิ่วยวดในทางการเมือง

เพราะเท่ากับทะลวงเข้าไปภายใน “ค่ายกล” ซึ่งจัดวางมาเป็น อย่างดีของ “คสช.”

นั่นก็คือ ทาง 1 ยืนหยัดในแนวทางเดิม

สร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยสุจริต” ยืนยันการไม่ร่วมกับระบอบทักษิณ ยืนยันการไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน ทาง 1 เสนอหลัก “ไม่สืบทอดอำนาจ”

ความหมายมิได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี “คนนอก”อย่างที่เคยอ้าง หากแต่ระบุลงไปเลยว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทะลวง “กล่องดวงใจ”ของ “คสช.”

คล้ายกับพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ตระหนักในอำนาจที่มีอยู่และยึด ครองมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ของคสช.และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตรงกันข้าม พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจอย่างถ่องแท้

เข้าใจว่าอำนาจของคสช.เริ่มคลอนแคลน อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มไม่อยู่ในสภาวะ “เสถียร”

จำคำว่า “กองหนุน”เริ่มน้อยลง ได้หรือไม่

จำบทความขนาดยาวที่ว่า “เหตุผล 8 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป” จากอดีตรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้หรือไม่

นั่นคือ สัญญาณที่ยืนยันสภาวะ “ไม่เสถียร”และสมควรต้องมีการเปลี่ยนตัว ตรงนี้เองที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอตัวเข้ามา

ความเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อยู่ตรงข้ามกับ “ระบอบทักษิณ” ยังจำหลักอย่างหนักแน่น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่คสช.เคยทำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเท่ากับเป็น “ตัวเลือก”ใหม่

ไม่ว่าปรากฏการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าปรากฏการณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สะท้อนปัญหาของกลุ่ม”อำนาจนำ”จากรัฐประหารปี 2549 มายังรัฐประหารปี 2557 เด่นชัด

หากถือว่ารัฐประหารปี 2549 “เสียของ” เป็นไปได้ว่ารัฐประหารปี 2557 อาจทำให้บางท่านกลายเป็น “เสียคน”

คำประกาศของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือการฟ้องร้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน