รู้แพ้รู้ชนะ : บทบรรณาธิการ

เหตุการณ์สำคัญที่คาดหมายได้หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม คือผลการเลือกตั้ง

กกต.แจ้งไว้ทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ร้อยละ 95 ในทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศได้ตั้งแต่ค่ำคืนของวันที่ประชาชนลงคะแนนเสียง

แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเวลาอีกนาน ที่จะรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ช่วงเวลานี้ถือว่า รู้แล้วว่าพรรคใดมีสมาชิกที่เตรียมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ผลที่ออกมานี้คงไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด คาดได้ว่าอาจมีการร้องเรียนหลายพื้นที่ที่เป็นการบ้านสำหรับกกต. ต้องทำหน้าที่อย่างแข็งขันต่อไป

ประเด็นน่าสนใจช่วงเวลานี้คือการรับฟังประชาชนหลายๆ คน และหลายๆ ฝ่าย ทั้งกลุ่มที่ร้องเรียนและกลุ่มสังเกตการณ์

ในที่นี้รวมถึงกลุ่มสังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างประเทศ แอนเฟรล หรือเครือข่ายเอเชีย เพื่อการเลือกตั้งที่เป็นอิสระที่ไม่มีผลได้ผลเสียจากการเลือกตั้งของไทย

คณะทำงานกลุ่มนี้มาจากหลายประเทศในเอเชีย มีประสบการณ์และเป้าหมายชัดเจนว่า คือการสร้างมาตรฐานให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม

เพราะเมื่อใดก็ตามที่การเลือกตั้งจัดขึ้น อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา ผลที่ออกมาก็จะตรงกับสภาพความเป็นจริง ไม่สวนทางกับการคาดหมายของผู้คนจนเกินไป

เป็นที่ยอมรับทั้งกับคนไทย และกับนานาประเทศ

บทเรียนจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง รัฐประหารสองครั้งหลังมานี้ที่คนในสังคมต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ได้คือการ ยอมรับเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย

ไม่บิดเบือนเสียงข้างมากด้วยการดูถูกดูแคลน หรือลดค่า แบ่งแยกประชาชนให้ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ผลของการเลือกตั้งที่มาจากการใช้สิทธิใช้เสียงที่มีค่าเท่ากัน ควรเป็นกติกาที่ต้องเคารพเสียงข้างมาก หมายถึงพรรคที่มีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งควรได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล หรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนพรรคที่ได้คะแนนรองลงมาและมีแนวนโยบาย แตกต่างกันก็ไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เป็นเสียงส่วนน้อยที่มีความสำคัญ และมีเกียรติ แสดงให้เห็นถึงการรู้แพ้รู้ชนะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน