FootNote : ประชาธิปัตย์ บนทางแพร่ง เอา หรือไม่เอา “ประยุทธ์”

พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสถานการณ์แห่งการต่อสู้อย่างดุเดือด เข้มข้น แม้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะลาออกจากตำแหน่งทันทีที่นำพาพรรคพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้ง

การต่อสู้อันหนักหน่วงของพรรคประชาธิปัตย์มิได้อยู่ที่การต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่น

หากที่แหลมคมอย่างยิ่ง คือ การต่อสู้“ภายใน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอย่าง ไรในห้วงแห่งการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย

โจทย์การเมืองครั้งใหม่นี้สะท้อนความขัดแย้ง”ภายใน”ให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

เป็นการปะทุขณะที่พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแออย่างยิ่ง

หากถามว่าความขัดแย้งภายในพรรคเริ่มขึ้นจากมูลเชื้อใดในทางการเมือง

คำตอบทั่วไปคือ มูลเชื้อจากความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง

เป็นความพ่ายแพ้ต่อพรรคไทยรักไทย เป็นความพ่ายแพ้ต่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นความพ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทย

ปัจจัยนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กระเสือกกระสนหาทางออก

ทางออกด้วยการบอยคอตเลือกตั้งอาจไม่เพียงพอจึงต้องยื่นมือไปแตะกับกลุ่มพลังอื่นในทางการเมือง

สัมผัสได้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 และก่อนรัฐประหารปี 2557

ตอนแรกอาจเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตอนหลังอาจเป็นกปปส.

หนทางเลือกตรงนี้เองที่กลายเป็นปัญหาภายในพรรค

สะท้อนออกอย่างเด่นชัดตอนมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง และออกฤทธิ์อีกครั้งภายหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

ศึกล้างตาจึงตามมาและจะรุนแรงล้ำลึกเป็นลำดับ

การสำแดงตัวของ นายถาวร เสนเนียม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือแม้กระทั่ง นายอัศวิน วิภูสิริ คือเงาสะท้อนความขัดแย้งที่ดำ รงอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์

เป็นผลและความต่อเนื่องก่อนและหลังรัฐประหาร

ยังเป็นหนทางจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จำเป็นต้องตัดสินใจ จำเป็นต้องเลือก

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน