นพพล สันติฤดี / รายงาน

ชายวัยกลางคนยืนนิ่งอยู่บนเรือที่ลอยกลางลำน้ำโขง สายตาจับจ้องกระเพื่อมน้ำเบื้องหน้า ไม่นานเขาเหวี่ยงแหออกไปสุดแรง แล้วกระโดดลงเรือจมหายไปกับสายน้ำ ชั่วอึดใจเขาโผล่หัวขึ้นเหนือน้ำ ชูปลาตัวเขื่องขึ้นสุดแขน ด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข ราวกับว่าวันนี้เขากำลังเป็นผู้ชนะ

ทัศนียภาพแม่น้ำโขง จ.เชียงราย

ภาพคนหาปลาบนแม่น้ำโขง นับเป็นฉากที่พบเห็นได้ไม่ยากนัก สำหรับผู้คนที่เคยเดินทางผ่านลำน้ำสายนี้ ยังไม่รวมกับภาพเกษตรกรริมโขง คนหาไก(สาหร่ายชนิดหนึ่งในแม่น้ำโขง นำมากินได้) คนขับเรือรับจ้าง คนขับเรือส่งสินค้า แม้กระทั่งคนขายอาหาร ที่หลอมรวมจนกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำนานาชาติสายนี้

ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงถูกท้าทายอย่างหนักจากอำนาจของมนุษย์ เมื่อประเทศจีน สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบน แล้วเสร็จไป 6 เขื่อน และโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนใน 5 ประเทศ ทั้ง ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่อาศัยสายน้ำแห่งนี้เพื่อหาอยู่หากิน

ขณะที่รัฐบาล-คสช.ของไทยเราเอง มีมติเห็นชอบเข้าร่วมการสำรวจ ออกแบบการปรับปรุงร่องน้ำลึก ที่อาจนำไปสู่การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงในที่สุด

ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง หวั่นวิตกถึงภัยที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้

งานฮอมบุญ ฮอมปอย

สิ่งเดียวที่จะทำให้รัฐบาลรับฟังเสียงของพวกเขา คือการลุกขึ้นมาแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดย พี่น้องชาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย และภาคประชาชนจากหลายพื้นที่หลายร้อยคน ร่วมกันจัดกิจกรรม “ฮอมบุญ ฮอมปอย หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง”

ท่าเรือสินค้า

เพื่อรณรงค์ต่อต้านโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขง หรือการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยประเทศจีน ที่ท่าเรือผาถ่าน ต.เวียง อ.เชียงของ

ภายในงานมีการเปิดซุ้มรับลงชื่อคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยมีประชาชนให้ความสนใจร่วมลงชื่อจำนวนมาก และในเวลานี้มีจำนวนผู้ลงชื่อคัดค้านถึง 5,000 รายชื่อแล้ว

รณรงค์คัดค้านระเบิดแก่ง

นอกจากนี้ยังมีการติดป้ายคัดค้านการระเบิดแม่น้ำโขง ทั้งภาษาไทย จีน ลาว อังกฤษ บริเวณท่าเรือ เช่น ข้อความว่า “หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” “ปกป้องแม่น้ำเพื่อมนุษยชาติ” เป็นต้น

นิทรรศการภาพวาด ภาพถ่ายแม่น้ำโขง

อีกทั้งยังมีนิทรรศการภาพวาดและภาพถ่ายหลายมุมมองที่เกี่ยวกับ ความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงาม และกิจกรรมต่างๆที่สื่อความหมายถึงการอนุรักษ์แม่น้ำโขง

สักการะเจ้าพ่อผาถ่าน

รวมไปถึง ทำพิธีกรรมเลี้ยงเจ้าพ่อผาถ่าน และปักตุงไจย (ธงชัย) เพื่อประกาศปกป้องน้ำโขง

เสาร์แก้ว นำอินทร์

นายเสาร์แก้ว นำอินทร์ หรือลุงรัตน์ คนขับเรือคิวเรือวัดหลวง ต.เวียง อ.เชียงของ ร่วมเสนอความคิดเห็นว่า เมื่อก่อน เดือนมี.ค.-เม.ย. จะมีไก ออกมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากมีการสร้างเขื่อน ทำให้ปลาสูญพันธ์ไปเกือบหมด

พวกเราจึงกังวลและไม่อยากให้ระเบิดเกาะแก่ง อยากให้เป็นเหมือนเดิม เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการพัฒนาในแม่น้ำโขง จะเห็นได้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน ทั้งการสร้างเขื่อน ที่น้ำขึ้นน้ำลงเปลี่ยนแปลงชัดเจน ชาวบ้านจากเดิมมีภูมิปัญญาเรื่องการดำรงชีวิตในแม่น้ำโขง ก็สูญหายไปหมด เมื่อแม่น้ำโขงถูกควบคุม และไม่ได้เป็นธรรมชาติดังเดิม

“เรื่องนี้ไม่ต้องคิด ว่าจะมาระเบิดหิน ระเบิดผา ขอให้เป็นธรรมชาติเหมือนเดิมจะดีกว่า ขอให้รักษาไว้ให้ลูกให้หลานดังเดิม ผาถ่าน ก็ขอให้เป็นผาถ่าน ผานาง ก็ขอให้รักษาไว้เป็นผานาง นอกจากธรรมชาติแล้ว แม่น้ำโขงยังมีตำนานตามเกาะแก่งต่างๆมากมาย ถ้าระเบิดออกไป นอกจากธรรมชาติที่สูญสลายแล้ว ตำนานต่างๆก็จะไม่หลงเหลือด้วย” คนขับเรือ เสนอความเห็น

แก่งผาได

ที่ แก่งผาได อ.เวียงแก่ง จ.เชียงราย อยู่ติดกับชายแดนประเทศลาว นอกจากเต็มไปด้วยแท่งหินผุดขึ้นกลางลำน้ำโขงแล้ว ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชที่ขึ้นใกล้กับแท่งหิน เนื่องจากเกิดการทับถมของตะกอน ทั้งยังเป็นที่อาศัยอยู่ของปลานานาชนิด ไม่ได้เป็นเพียงแค่แท่งหิน แต่เป็นระบบนิเวศหนึ่งของแม่น้ำโขง

สุดเขตประเทศไทย ชายแดนลาว

แต่หากเกิดการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงขึ้นจริง ความสวยงามของแก่งผาได ก็คงกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าสำหรับผู้คนในอนาคต เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดที่จะถูกระเบิดตามแผนที่วางไว้

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่น้ำโขง-ล้านนา นำคณะลงสำรวจพื้นที่แห่งนี้ ให้ข้อมูลว่า ในอดีตเคยมีโครงการระเบิดแม่น้ำโขงมาแล้ว เมื่อประมาณปี 2544-2545 โดยเป็นการระเบิดแม่น้ำโขงตอนบน ระเบิดทั้งแก่งที่อยู่ใต้น้ำ และที่โผล่พ้นน้ำ 21 แก่ง ตั้งแต่ จีน พม่า ลาว ไทย

ดำเนินการไปแล้ว 20 จุด ที่อยู่ใน จีน ชายแดน พม่า ลาว เหลือในไทยอีก 1 จุด คือ คอนผีหลง ครั้งนั้นชาวบ้านออกมาต่อต้านโดยให้เหตุผลว่าการะเบิดแก่งจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขง

รัฐบาลในขณะนั้นให้เลยทบทวนโครงการ ก่อนมีข้อสรุปให้ชะลอโครงการออกไป ด้วยเหตุผลหลักๆ น่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เพราะกระทรวงกลาโหมมีความกังวลว่าอาจเสียเขตแดนหากมีการะเบิดแก่ง ทำให้โครงการยุติไป

นายสมเกียรติ เล่าต่อว่า ล่าสุดเมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบให้ศึกษาและสำรวจการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง มีทั้งหมด 51 เกาะแก่ง มี 7 เกาะแก่งที่อยู่ในประเทศไทย ที่จะโดนระเบิดด้วย ถือเป็นระยะที่ 2 ของโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้แม่น้ำโขงมีลักษณะคล้ายคลอง เพื่อให้เรือบรรทุกอย่างต่ำ 500 ตันสามารถเดินเรือได้

หากระเบิดจริงๆ แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย จากอ.เชียงแสน จนถึง อ.เวียงแก่น ระยะทาง 94 กม. จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะแม่น้ำจะถูกแปรสภาพทั้งหมดเพื่อการเดินเรือ

แม้รัฐบาลจะบอกว่าแม่น้ำโขงไม่มีทรัพยากรหลงเหลืออยู่แล้ว แต่จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่ายังมีพันธุ์ปลาอีกเกือบร้อยชนิดที่ยังอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง รวมถึงแม่น้ำสาขา บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงอยู่ โดยชาวบ้านส่วนหนึ่งยังมีชีวิตที่สัมพันธ์ และทำมาหากินอยู่กับลำน้ำโขง” นายสมเกียรติ เล่าถึงความสำคัญของแม่น้ำโขง

ทองสุข อินทะวงศ์

ขณะที่คนในพื้นที่อย่าง พ่อหลวงทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ได้เล่าถึงความสำคัญของแก่งแม่น้ำโขงว่า ในพื้นที่ อ.เวียงแก่น มีเกาะแก่งตั้งแต่ตาดทีน ล่องลงมาจนถึงผาได เป็นเหมือนฝายชะลอน้ำ ที่ไม่ให้น้ำกัดเซาะตลิ่งเกินไป

เมื่อทราบข่าวว่า ครม. อนุมัติให้สำรวจเกาะแก่ง ชาวบ้านทั้งกังวล และเป็นห่วงระบบนิเวศ และธรรมชาติในพื้นที่ แค่ระเบิดเหนือน้ำ เราก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ถ้ามาระเบิดหน้าบ้านเราอีก พวกเราจะอยู่กันอย่างไร

พ่อหลวงทองสุข สงสัยว่า ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนของรัฐบาลที่อนุมัติให้สำรวจ ทั้งที่โขดหินเหล่านี้เกิดขึ้นมาเองจากธรรมชาติไม่รู้กี่ล้านปีมาแล้ว ถ้าระเบิดแล้วจะให้ลูกหลานเรามาดูคลองหรืออย่างไร อยากจะคุย อยากจะถามผู้ใหญ่ถ้ามีการประชุม ว่าทำไมท่านให้ประเทศไทยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ แต่เกาะแก่งแม่น้ำโขง ท่านถึงจะให้เขามาทำลาย แล้วท่านจะทำให้มันเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ ต้องใช้เวลาอีกกี่ร้อยปี กี่พันปี ล้านปีเราก็ยังไม่เห็น ถ้าเราทำลายมันลงไป

“หากระเบิดแก่ง จะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวมีที่ยังพึ่งพาแก่งผาได เพราะกลุ่มหินจะถูกระเบิดออกจนหมด เมื่อไม่มีแก่งเวลาน้ำมาจะเซาะตลิ่ง ในเกาะแก่งมีพันธุ์พืช ไคร้น้ำ ไคร้หางนาก เมื่อน้ำหลากปลาจะเข้ามาอยู่อาศัยและเป็นอาหารของปลา ที่ปลาอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งอาหาร และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆเข้ามาอยู่ และกลายเป็นที่ชุมนุมของคนด้วย”

ปลาแม่น้ำโขง

“ความผูกพันระหว่างชาวบ้านไทย-ลาว ที่อาศัยอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำ จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ตลาดนัดระหว่างชายแดน ที่ผู้คนมาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันจะทำยังไง รวมทั้งคนหาปลา และเรื่องวัฒนธรรมก็จะได้รับผลกระทบ เมื่อมีงานบุญประเพณีพี่น้องสองฝั่งจะไปมาหาสู่กันได้ แต่เมื่อมีการระเบิดแก่ง จะทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ลาวห่างออกไป การหากินชายฝั่ง การค้าเล็กๆ กลุ่มแพ ขายของตามท่าน้ำคงหมดอนาคต” ผู้นำชุมชนริมฝั่งโขง แสดงความกังวล

เสียงสะท้อนของผู้คนริมโขง บอกเล่าชีวิต ที่เกิดขึ้นและเติบโตมากับแม่น้ำสายนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรมที่ยังมีอยู่จริง

ใช่หรือไม่ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ไม่ใช่เปิดประตูบ้านแล้วเรียกคนอื่นมาทำลายทิ้ง เหมือนที่กำลังคิดทำกันอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน