การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม กำลังแปรสภาพเป็นโรคๆ หนึ่งในทางการเมือง

ทั้งยังเด่นชัดมากยิ่งขึ้นว่าอาจกลายเป็นโรคระบาด ก่ออันตรายและเป็นผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

แรกที่เกิดความไม่พอใจขึ้นทั้ง “ก่อน”และ “ภายหลัง”วันที่ 24 มีนาคม

สายตาที่มองความไม่พอใจคล้ายกับประเมินว่าเป็นความไม่พอใจ “เทียม” เพราะว่ามีบางพรรคการเมืองผิดหวังและไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้ง

จึงได้มีท่าทีไม่ว่าจะจาก คสช. ไม่ว่าจะจากรัฐบาล ไม่ว่าจะจากผบ.เหล่าทัพออกมาปกป้องและค้ำประกันให้กับการทำงานของ กกต.

แต่หลังจากผ่านมา 2 สัปดาห์การปกป้องก็เริ่มไร้ผล

สังคมเริ่มมองเห็นอย่างเด่นชัดว่าจุดอ่อนและความบกพร่องของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม มิได้เป็นการเขย่า หรือสร้างสถานการณ์ของบางพรรคการเมือง

อย่างที่มีการแสดงออกผ่าน “สารจากนายกรัฐมนตรี” อย่างที่มีการแสดงออกผ่าน “ผบ.เหล่าทัพ”

ตรงกันข้าม ประสิทธิภาพของ “กกต.”ต่างหากที่เป็นประเด็น

ตรงกันข้าม กฎหมายอันเป็น “เครื่องมือ”ที่กกต.ใช้ในการบริหารจัดการต่างหากที่เป็นปัญหา

ไม่ว่าจะเป็น 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ว่าจะเป็น 1 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น 1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เพราะมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับมิได้เป็นไปตามที่มีอยู่ในบทบัญญัติอย่างครบถ้วน

ความไม่ไว้วางใจจึงมองไปยัง “กกต.”

ขณะเดียวกัน เมื่อ “กกต.”งอกมาจาก “สนช.”อันเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายซึ่งเป็นองค์ประกอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

“คสช.”จึงถูกเฝ้ามองอย่างเอาจริงเอาจัง

หากไม่นำเอาตัว “ปัญหา” หรือ “ทุกข์” มามองและวิเคราะห์ด้วยหลักแห่งอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐจะไม่สามารถมองเห็นตัวทุกข์ได้

เป็นไปได้ว่าจากกรณีของการเลือกตั้งอาจ “บานปลาย”

ในกระแสแห่งความต้องการจะทำให้เรื่องจบหรือยุติลง

เนื่องจากไม่เข้าใจใน “ตัวทุกข์”ตามความเป็นจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน