บทบรรณาธิการ

การเสียชีวิตของบุคลากรในวัดพระธรรมกายรายที่ 2 ระหว่างการควบคุมพื้นที่โดยรอบวัดของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเกินสองสัปดาห์ เป็นกรณีหนึ่งที่มีข้อมูลแตกต่างกันระหว่างคนสองฝ่าย

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลในวันแรกของการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ว่า ผู้ศรัทธาหญิงของวัดพระธรรมกายสิ้นลมหายใจจากโรคหอบหืดตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนหน่วยกู้ภัยจะเข้าไปถึง 4-5 ชั่วโมง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับความไม่สะดวกในการสัญจรไปมาจากมาตรการควบคุมพื้นที่

แต่ต่อมายอมรับว่าเป็นการประเมินเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่กู้ชีพ เมื่อผลชันสูตรพลิกศพระบุว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง หรือราวช่วงเที่ยง

ผลชันสูตรทางวิทยาศาสตร์จึงช่วยยุติข้อมูลอันสับสนในส่วนนี้ได้

การยอมรับในผลชันสูตรทางวิทยาศาสตร์ของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นเรื่องสมควรด้านหนึ่ง การแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตก็เป็นสิ่งสมควรในอีกด้านหนึ่ง

หลังจากมีบทเรียนแล้วว่าการประเมินสถานการณ์ที่มาจากการคาดคะเนที่ไม่แน่ชัดนั้นไม่อาจจะเป็นข้อยุติได้เท่ากับผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

กรณีนี้จึงเหมือนกับคดีน้อยใหญ่อื่นๆ ที่ต้องพึ่งผลทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวตัดสิน

ไม่ว่าจะเป็นคดีอาชญากรรมที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติถูกฆาตกรรมที่เกาะเต่าต้องใช้ผลดีเอ็นเอ ไปจนถึงคดีความรุนแรงทางการเมืองในปี 2553 ที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัด ต้องใช้ผลยืนยันวิถีและความรุนแรงของกระสุน

วิทยาศาสตร์จึงเป็นส่วนสำคัญในการค้นหาความจริง

นอกจากวิทยาศาสตร์จะเป็นตัวที่ใช้ค้นหาความจริงแล้ว ยังช่วยคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ให้พบกับทางออกได้เสมอมา

เพราะวิทยาศาสตร์ใช้หลักเหตุและผล มีการทดลองและเรียนรู้ถูกผิด ศึกษาถึงผลกระทบและผลข้างเคียง ไม่ได้เดินหน้าไปสู่เส้นทางที่คิดเองเออเองโดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง

ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

สำหรับการเมืองแล้ว การกล่าวอ้างหรือวิจารณ์ถึงเรื่องใดก็ตามควรจะยึดหลักวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนที่ไม่ควรเกิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน