บทบรรณาธิการ : รับมือร้อน

รับมือร้อน : ประเด็นร้อนที่ร้อนแรงมากขณะนี้คือเรื่องอากาศร้อน เป็นความร้อนจากธรรมชาติ ซึ่งอาจซ้ำเติมมาจากกิจกรรมของมนุษย์

สภาพอากาศช่วงนี้ตรงกับที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ และประกาศตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อนวันที่ 21 ..2562 ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนกว่าปกติ และร้อนกว่าปี 2561

ความร้อนนี้จะลากยาวไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม

ด้วยช่วงเวลาที่ต้องเผชิญอีกยาวนานนี้ สิ่งที่ประชาชนทำได้คือรับรู้ข้อมูลและหาวิธีหลีกเลี่ยงภัยจากความร้อน

อย่างน้อยต้องรู้ทันสัญญาณเตือนภัยจากร่างกาย เพื่อรักษาสุขภาพให้มากที่สุด

คําเตือนและคำแนะนำจาก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงภัยจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว คือการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคฮีตสโตรก หรือลมแดด

เป็นภาวะวิกฤต ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด

หากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญคือ หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงหมดสติ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงภัย ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อน ไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวมีทั้งกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันนี้ เช่น เลี่ยงกิจกรรมออกกำลังกายกลางแดด งดดื่มสุรา และพักผ่อนให้เพียงพอ

ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีทางเลือกมากนัก คือผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด ต้องหาวิธีป้องกันตามที่ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เช่น สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ

ขณะที่กลุ่มเด็กน้อย ผู้สูงวัย และผู้มีโรค ประจำตัว อาจต้องมีสมาชิกในครอบครัวหรือญาติมิตรช่วยดูแลให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี กินอาหารที่ประกอบด้วยน้ำในปริมาณมาก เช่น แตงกวา แตงไทย ผักกาดหอม สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ

ความร้อนเป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุม สิ่งที่ทำได้คือปรับตัวและดูแลตัวเอง

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน