หากอาวุธทางการเมืองที่เริ่มจากคสช.ประสานเข้ากับกกต. กำลังรุมกระหน่ำต่อพรรคอนาคตใหม่อย่างหนักหน่วงรุนแรง

อาวุธนั้นก็กำลังจะหวนกลับมายังก้านคอของพรรคพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นประเด็นไปยังลักษณะต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.

เป็นการเริ่มต้นจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 42

จากนั้นมีความพยายามจะขยายผลเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 และมาตรา 86

อีกไม่นานอาวุธเดียวกันนี้ก็จะปลิวจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ ไปยัง นายอุตตม สาวนายน แห่งพรรคพลังประชารัฐ

เพราะอาวุธที่ใช้ออกมาเป็น “บูมเมอแรง”

ความแหลมคมเป็นอย่างยิ่งที่คสช.และกกต.จะต้องตอบคำถามในทางสังคม คือความละเอียดอ่อนและความอ่อนไหวในประเด็นของการเลือกปฏิบัติ








Advertisement

เรียกตามสำนวนดังว่า “สองมาตรฐาน”

ไม่เพียงแต่กรณีจัดเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุน 600 ล้านบาทจะมิได้รับความเอาใจใส่จาก กกต.

หากแต่กรณีนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยังเหลื่อมซ้อนกับการอยู่ในสถานะเจ้าหน้าที่รัฐอื่นหรือไม่ ก็ยังมิได้มีความคืบหน้า

ขณะที่กรณีของพรรคอนาคตใหม่เพียงแต่มีการร้องขึ้นมาก็เริ่งเครื่องเดินหน้าอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่ากรณีของ นายภูวเบศร์ เห็นหลอด ที่สกลนคร

ไม่ว่ากรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้งที่มีการโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม ก่อนการรับสมัคร ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม

คำถามว่าด้วยเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน นี้แหละสำคัญ

พลันที่มีการร้องสวนทางกลับไปว่ากรณีคล้ายคลึงกันนี้มิได้มีแต่ในพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น หากในพรรคพลังประชารัฐก็มีอยู่และมากกว่า 1 ด้วยซ้ำไป

นี่คือความเป็นจริงในทางการเมือง

เพียงแต่คสช.มองไม่เห็น เพียงแต่กกต.มิได้เร่าร้อนในการดำเนินการ

เพราะทุกเรื่องราวล้วนดำเนินไปในแบบ “บูมเมอแรง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน