คอลัมน์ รายงานพิเศษ

พรเทพ อินพรหม

แม้นโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใน จ.กระบี่ จะพับเก็บเข้าแผนตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กลับไปรับฟังเสียงประชาชน โดยศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผล กระทบด้านสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ใหม่

ทำให้ทางออกในเรื่อง “โรงไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน” ยังเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านกำไว้มาหักล้างกัน

ด้วยปัญหาข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนจะไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนและคัดค้าน คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน นำโดย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำทีมสื่อมวลชน เดินทางไปศึกษา “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่ประเทศญี่ปุ่น

เพื่อศึกษาข้อเท็จจริง “อีกด้าน” ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางชุมชนและความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่น

จุดหมายคือ “โรงไฟฟ้ามัตซึอูระ” (Matsuura Thermal Power Plant) ของบริษัท J-Power จังหวัดนางาซากิ เกาะคิวชู

โรงไฟฟ้าแห่งนี้นับเป็น “ต้นแบบ” ให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดียวกัน ที่เรียกว่า “อัลตรา ซูเปอร์ คริติคัล” (ยูเอสซี) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกขณะนี้ ใช้ถ่านหินบิทูมินัส และซับบิทูมินัส นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย

“เทคโนโลยี ยูเอสซี มีจุดเด่น อาทิ ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าน้อยลง 1 ใน 3 ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 70% และฝุ่นละอองขนาดเล็กกับคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง 50% เป็นต้น”ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวและว่า

ความแตกต่างสำคัญระหว่างโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระเป็นระบบเปิด หมายความว่า ใช้ระบบการกองเก็บถ่านหินในที่โล่ง ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น กองเก็บไว้ในอาคารปิด ใช้งบประมาณในการลงทุนที่สูงกว่าเพื่อให้ได้มาตรฐานสูงสุด

นายอารีพงศ์บอกอีกว่า กระบวนการขนถ่านหินจากท้องทะเลมายังโรงไฟฟ้า ประชาชน-นักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง แทบไม่มีโอกาสได้เห็นถ่านหินอย่างแน่นอน ขณะที่ขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระ จะนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการถมทะเล ขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่จะเอาไปทิ้งในบ่อฝังกลบ เพราะคนในชุมชนยังไม่มั่นใจ

หากดูเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตแล้วเรียกได้ว่าแทบหาความแตกต่าง หรืออะไรที่เป็นจุดอ่อนกว่าของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้เลย ในส่วนของปมคาใจ ที่คนในชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยังกังขานั้น

ผู้บริหาร บริษัท J-Power ได้ถอดบทเรียนขั้นตอนก่อนการก่อสร้าง ให้กับคณะศึกษาจากกระทรวงพลังงานอย่างละเอียด

ผู้บริหาร บริษัท J-Power ให้ข้อมูลว่า ก่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มัตซึอูระ มีการประชุมกับชุมชนในละแวกใกล้เคียง โดยผู้บริหารได้ชี้แจงเทคโนโลยีกระบวนการผลิตไฟฟ้าถ่านหินว่าใช้เทคโนโลยีอะไร และยืนยันให้เกิดความ เชื่อมั่นว่าผลกระทบไม่มีแน่นอน

ภายหลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระก่อสร้างแล้วเสร็จ ยังพูดคุยกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง หากในกรณีที่มีปัญหาฉุกเฉินจริงๆ โรงไฟฟ้าจะสื่อสารกับชุมชนตามข้อ เท็จจริง อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ชุมชนมีความเชื่อมั่นในตัวโรงไฟฟ้ามากขึ้น

“กลุ่มที่มีข้อเป็นห่วงและเรียกร้องมาก คืออ่าวอีกฝั่งของโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นชุมชนตลาดปลา ในช่วงแรกชาวประมงกังวลว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระจะทำให้เกิดความสกปรก มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง และส่งผลให้การจับปลามีปริมาณลดลง ซึ่งช่วงแรกก็มีความยากลำบากในการสื่อสารให้ชาวประมงเข้าใจ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เข้ามาช่วยชี้แจงอธิบายข้อเท็จจริงและผลที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม”ตัวแทน บริษัท J-Power กล่าวและว่า

สุดท้ายเมื่อไม่มีผลกระทบอย่างที่กังวล ชาวประมงก็เกิดความสบายใจ สามารถหาปลาหลายสิบชนิดได้ 8-9 หมื่นตันต่อปี รวมทั้งสามารถจับปลาซาบะได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ

เมื่อถามถึงกรณีเกิดปัญหากับโรงไฟฟ้า ตัวแทนบริษัท J-Power ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระมีแผนรับมืออุบัติภัย เตรียมแผนเป็นขั้นตอนลำดับ เช่น แผน 1-4 และผสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที เช่น หน่วยดับเพลิง ศูนย์ข้อมูลประชาชน และทุกปีก็มีการซ้อมแผนรับมือกรณีที่เกิดปัญหาปีละหลายครั้ง เป็นต้น

มาถึงอีกปมสำคัญคือเรื่องสุขภาพ ผู้บริหารโรงไฟฟ้ากล่าวว่า ตั้งแต่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระในปี 2533 และดำเนินการจ่ายไฟฟ้าถึงปัจจุบัน ไม่มีการปรากฏโรคอะไรแปลกๆ ที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้า หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ

ในส่วนการสต๊อกถ่านหินแบบเปิด ก็มีมาตรฐาน สร้างกำแพงกันแนวลมและมี สเปรย์พ่นน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายออกไปส่งผลกระทบกับคนในชุมชน ซึ่งอุปกรณ์โรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระที่ใช้ จะเป็นตัวยืนยันได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน 100%

ขณะที่การสร้างส่วนร่วมกับชุมชนนั้น ในช่วงแรกที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ทำประมงบางรายที่ไม่สามารถทำประมงได้ โรงไฟฟ้าจะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่ไม่ได้มีกองทุนดูแลในระยะยาวเหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ส่วนอื่นก็เป็นการนำขี้เถ้าจากการผลิตไฟฟ้ามาทำเป็นปุ๋ยเพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน ปรับปรุงทำความสะอาดถนนให้ชุมชน

 

เปิดโรงไฟฟ้าเพื่อให้ชุมชนเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมปีละครั้ง และสนับสนุนเงินทุน เช่น กีฬา วัฒนธรรม ให้กับคนในชุมชน ทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างไม่มีปัญหา

สําหรับประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก โรงไฟฟ้าถ่านหินคิดเป็น 30% ส่วนที่เหลือมาจากไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และในอนาคตก็มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม เพื่อรักษาสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ 30% ซึ่งประชาชนยอมรับได้มากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,000 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าติดกันของบริษัทคิวชู อิเลคทริก เพาเวอร์ เฉพาะจำนวนกำลังผลิตไฟฟ้า สูงกว่าค่าการใช้จริงสูงสุด (พีก) บนเกาะคิวชูที่ 1,500 เมกะวัตต์ ทำให้จ่ายไฟฟ้าไปนอกเกาะคิวชู

ตัดกลับมาที่ภาคใต้ของไทยที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,089 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ณ วันที่ 28 เม.ย.2559 อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ แต่ยังมีปัญหากรณีแหล่งก๊าซพม่าปิดซ่อมบำรุงทุกปี ต้องดึงไฟฟ้าจากส่วนกลางไปใช้

การเดินทางไปศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซึอูระ ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ น่าจะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยนำแนวทางมาใช้แก้ปัญหา หรือทำความเข้าใจกับชุมชน

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านๆ มา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน