บทบรรณาธิการ

หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 59/2559 ครั้งล่าสุด เกี่ยวข้องกับกรมประชาสัมพันธ์

ให้พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด ผู้ชํานาญการกองทัพบก โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการในตําแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นการ ชั่วคราวอีกตําแหน่งหนึ่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป

เหตุผลในคำสั่งระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ของรัฐให้มีลักษณะสอดคล้องกันระหว่างการประชาสัมพันธ์ของทางราชการ การประชาสัมพันธ์ของคสช.กับการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อการปฏิรูป

มีความชัดเจนในการเป็นสื่อของรัฐ

กรมประชาสัมพันธ์ มีวิวัฒนาการมาจากกองโฆษณาการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2476 หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ต่อมาพัฒนาเป็นกรมโฆษณาการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2483 และพัฒนามาเป็นกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2495

ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง โดยให้ข่าวสาร ความรู้ ข้อเท็จจริง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังทำหน้าที่โน้มน้าว ชักจูง ประชาชนเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือแก่รัฐบาลและหน่วยราชการด้วย

แต่บางยุคสมัยกลับเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลอย่างสุดโต่ง ด้วยข่าวสารที่บิดเบือน สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน จนได้สมญาว่า “กรมกร๊วก” มาแล้ว

กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคอีก 8 แห่ง มีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จำนวน 147 สถานี ความถี่ในระบบเอเอ็ม จำนวน 60 สถานี และระบบเอฟเอ็ม จำนวน 87 สถานี อยู่ในกรุงเทพมหานคร 11 สถานี และในภูมิภาค 136 สถานี

นอกจากนี้ สนับสนุนเป็นเครือข่ายวิทยุโรงเรียนและวิทยุนอกโรงเรียน รายการเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีก 11 สถานี

ปัจจุบันแม้เครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์จะไม่ได้ทรงอิทธิพลในฐานะสื่อเหมือนในอดีต

แต่ก็ยังถือเป็นกลไกของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน และควรคำนึงถึง ประชาชนเจ้าของเงินภาษี มากกว่ามุ่งเป็น กระบอกเสียงรัฐด้านเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน