การเมืองเรื่อง‘อี’

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การเมืองเรื่อง‘อี’ – แม้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คนล่าสุดที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด ทำให้ยอดรวมส.ส.หญิงในสภาทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเป็น 81 คน

แต่จำนวนที่ไม่ถึง 100 คน จากจำนวนส.ส.ทั้งสภา 500 คน แสดงว่าไม่ถึง 1 ใน 5 สัดส่วนจึงอยู่ที่ราวร้อยละ 16

ตัวเลขนี้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบสภานิติบัญญัติจากการรัฐประหาร สัดส่วนสมาชิกหญิงอยู่ที่ ร้อยละ 5.3 รั้งอันดับท้ายสุดของกลุ่มอาเซียน และอันดับที่ 184 จาก 190 ของโลก

แต่ถือว่าดิ่งลงเมื่อเทียบผลการเลือกตั้งปี 2554 ช่วงประชาธิปไตยปกติ สัดส่วนของส.ส.หญิงอยู่ที่ร้อยละ 24 และไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก

การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับประเทศของผู้หญิงเป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเท่าเทียมทางเพศในสังคม และเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองระดับท้องถิ่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดโต่ง แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านนี้

ตัวอย่างเห็นชัดเจนในยุคนายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกระทำด้วยวาจาปลุกระดมความเกลียดชัง หรือ เฮตสปีช ระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

มีคำเรียก “อี” นำหน้า รวมถึงถ้อยคำลักษณะหยามเหยียดเพศอย่างกว้างขวาง

น่าสังเกตว่าเป็นการเหยียดหยามจากบุคคลที่มีสถานะทางสังคมที่เป็นเพศหญิงด้วยกัน

ปัจจุบัน การใช้ถ้อยคำ “อี” ทางการเมืองหวนกลับมาอีก โดยส.ส.หญิงต่อเพื่อนส.ส.หญิงด้วยกันผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย จนเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

แม้จะมีคำชี้แจงเวลาต่อมาว่าเป็นภาษาเฉพาะของชุมชน เพื่อตำหนิเรื่องมารยาทระหว่างการประชุมสภาผู้แทนฯ ของส.ส.ด้วยกัน

แต่ไม่ใช่คำอธิบายที่มีเหตุผลเท่าใดนัก เมื่อคำนึงถึงการใช้ถ้อยคำของผู้แทนระดับประเทศที่ต้องระมัดระวัง ให้เกียรติเพื่อนร่วมอาชีพ และให้เกียรติความเป็นผู้หญิงด้วยกัน

กรณีนี้ดีที่ไม่เป็นการตอบโต้กันไปมา เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีวุฒิภาวะพอ

นอกจากช่วยบรรเทาบรรยากาศการโต้เถียงแล้ว ยังช่วยลดการบั่นทอนคุณภาพของส.ส.หญิงได้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน