หากมองจากมุมของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของคสช. ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์อาจ สร้างความหงุดหงิด

เพราะแตกต่างจากของพันธมิตร 7 พรรคอย่างสิ้นเชิง

นั่นก็คือ แตกต่างจากความเฉียบขาดอันมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนชาวไทย

กระนั้น หากนำเอาพรรคประชาธิปัตย์ไปวางเรียงกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคประชาชนปฏิรูป ก็จะเห็นความแตกต่าง

นั่นก็คือไม่ถึงกับอ้าขาผวาปีก นั่นก็คือ ไม่ถึงกับรุนแรงและแข็งกร้าว

ความจริง ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์เป็นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมมาแล้ว

สัมผัสจากความชัดเจนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่าลืมว่า 2 แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์คือ 1 ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 1 ต่อต้านประชาธิปไตยที่ไม่สุจริต

แม้ความหมายของประชาธิปไตยไม่สุจริตจะเน้นไปยังสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” แต่ก็แทบไม่แตกต่างไปจากประชาธิปไตยในแบบของพรรคพลังประชารัฐเท่าใดนัก

ภายหลังการเลือกตั้ง ภายหลัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ก็วนอยู่โดยรอบกับ 2 แนวทาง 2 หลักการข้างต้น

ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เหมือนกับท่าทีของพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน ก็พยายามต่อรองอย่างเต็มกำลังเมื่อต้องดีลกับพรรคพลังประชารัฐ

อาจสร้างความหงุดหงิดบ้างแต่นี่คือ พรรคประชาธิปัตย์

เด่นชัดแล้วว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมทำให้พรรคประ ชาธิปัตย์จำเป็นต้องขบคิดอย่างจริงจัง เพราะการตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐมีผลสะเทือน

บ่งชี้ให้เห็นว่าอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

จะกลายเป็นหางเครื่องของคสช.และพรรคพลังประชารัฐ หรือจะสามารถผงาดขึ้นมายืนอีกครั้งหนึ่ง

และคำตอบจะเห็นได้ในวันที่ 5 มิถุนายน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน