ช่วยกันพายเรือ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การจัดตั้งรัฐนาวาชุดพลเรือน เพื่อถ่ายโอนอำนาจจากชุดรัฐประหาร ปรากฏภาพและบรรยากาศที่ไม่ง่ายนัก

และคงไม่ง่ายเหมือนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีส.ว.แต่งตั้งถึง 250 เสียง จนทำให้คะแนนโหวตท่วมท้น

แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเกิดจากการรวมตัวของ พรรคการเมืองน้อยใหญ่ด้วยข้อสรุปเดียวกันว่า ต้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และผู้นำรัฐประหาร เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ตามโรดแม็ปที่วางไว้ และส่วนที่จะยังมีผลยาวนานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แต่เมื่อส.ส.มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะผู้ได้รับเลือกจากประชาชน จึงเป็นเรื่องยากในการควบคุมให้ไปในทิศทางเดียวกัน

กรณีส.ส.พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงในการลงมติ เลือกนายกรัฐมนตรี แม้เป็นเพียงเสียงเดียว แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงการต้องชั่งน้ำหนักสำหรับทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชน

ส.ส.ฝ่ายร่วมรัฐบาลต้องคำนึงทั้งเสียงจากท้องถิ่นชุมชน เสียงของพรรค และเสียงของการรวมกลุ่มรัฐบาล

อีกทั้งต้องประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและคาดคะเนถึงผลกระทบในอนาคต

ดังนั้นการตัดสินใจในฐานะปัจเจกบุคคล กับในฐานะสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล จึงอาจขัดแย้งในตัวเอง

การสร้างรัฐนาวาขณะนี้ พรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลใช้คำว่า ต้องร่วมกันพาย เพราะถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว

หลังจากมีมติแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำนโยบายของรัฐบาล และผู้ประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่พรรคต่างๆ หาเสียงไว้มาจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาลผสม 19 พรรค

นอกเหนือไปจากการจัดสรรแบ่งกระทรวงให้แต่ละพรรครับผิดชอบ

ขั้นตอนนี้จึงดูเหมือนยากและซับซ้อนกว่ามาก เมื่อเทียบกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกัน ในการต่อต้านแนวทางที่รัฐบาลทหารวางไว้

ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขนโยบายเศรษฐกิจ และการพัฒนากระบวนการทางประชาธิปไตย ล้วนเป็นไปในจุดหมายเดียวกัน

การพายเรือของทั้งสองฝ่ายจึงน่าจะเห็นภาพได้ไม่ยาก ว่าฝ่ายใดจะมีความเป็นทีมมากกว่ากัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน