รายงานพิเศษ

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับ คำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา จึงได้มีหนังสือขอความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเด็นเพิ่มเติม รวมทั้งเอกสารอื่นใดที่เห็นว่าเกี่ยวข้องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมไว้ในสำนวน

ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559 และประกาศผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2559 ปรากฏว่าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมมากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ซึ่งประเด็นเพิ่มเติมมีว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฎิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

กรธ.จึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรม นูญ มาตรา 272 ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติจากเดิมที่มีเพียงวรรคเดียว แก้ไขมาใหม่มีสองวรรค ดังนี้

“ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน

และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกรธ.ได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่

เมื่อพิจารณาความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องของสนช.และสปท.ประกอบด้วยแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ดังนี้

(1) ผู้มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี

เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมที่ผ่านประชามติแล้วเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการแบ่งขั้นตอนของการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบออกจากกัน เนื่องจากต้องการให้การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพราะก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนได้ทราบรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งต่อกกต.ก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้ง

ดังนั้น การตั้งประเด็นคำถามในการออกเสียงประชามติต้องมีความชัดเจนและไม่คลุมเครือเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เมื่อการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมมีเพียงว่า “…ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ย่อมทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า ประเด็นเพิ่มเติมประสงค์เฉพาะกิจให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวมถึงการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

การที่ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรธ.ได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุม ร่วมกันของทั้งสองสภา การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องดังกล่าว จึงสอดคล้องและชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว

(2) ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ และมติในการให้ความเห็นชอบให้ยกเว้น

ประเด็นเพิ่มเติมที่สนช.เห็นชอบให้ส่งต่อกกต.เพื่อดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติในคราวเดียวกันกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 58.07

ย่อมหมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบให้การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อันเป็นเจตนารมณ์เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

การเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่มีสิทธิในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการเสนอขอยกเว้นที่จะไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจาก ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 จึงเป็นการสอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม

(3) กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

การที่ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกรธ.แก้ไขโดยกำหนดเวลาและ วันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งว่า “ในระยะ 5 ปีแรก” นับแต่วันที่มีรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 และวรรคสองบัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือก ส.ส.ตามมาตรา 268 แล้ว จึงไม่สอดคล้องและไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ

เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองต้องสอดคล้องกัน จึงได้กำหนดให้ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาจะต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกรธ.ได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ และให้กรธ.ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ดังนี้

(1) ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(2) กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองคือ “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้”

ให้กรธ.ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องกันต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 37/1

โดยให้กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

จากนั้นจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน