เหมือนกับการปรากฏขึ้นของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในชุดไทยล้านนา อันเป็นผลสะเทือนจาก “กลิ่นกาสะลอง”

จะเป็นการจุดประกายในประเด็นการแต่งกายของสมาชิกรัฐสภา

แต่หากติดตามกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรนับแต่เปิดประชุมอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

ก็จะสัมผัสได้ในลักษณ์ใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายด้วยชุดของ ส.ส.ชาติพันธุ์ม้ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยสีสันในสูทขาว ดำในลักษณะจางคลาย

และที่สุดก็ฮือฮาด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เดินทางเข้าสภาด้วยชุดไทยล้านนา “กลิ่นกาสะลอง”งามตา

กระทั่งกลายเป็นการปะทะขัดแย้งในเชิง “วัฒนธรรม”

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ร้อนแรงเป็นพิเศษเมื่อมีการนำเอาระเบียบการแต่งกายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าพิจารณา

ร้อนแรงเพราะความเห็นต่าง 2 แนวทางอย่างเด่นชัด

แนวทาง 1 เน้นในเรื่องระเบียบอันเคร่งครัด แนวทาง 1 เน้นในเรื่องเสรีภาพอย่างมั่นแน่ว

จากนั้น กรอบแห่งการอภิปรายก็มิได้จำกัดอยู่เพียงในประเด็นของการแต่งกาย หากแต่ได้ขยายไปยังพื้นที่ของการใช้ภาษาในที่ประชุม

แสดงการไม่เห็นด้วยกับการใช้ภาษาถิ่น ไม่ว่าเหนือ กลาง ใต้ อีสาน

ให้ใช้ภาษา “กลาง”กรุงเทพฯภาษาเดียว

ไม่ว่าในเรื่องเครื่องแต่งกาย ไม่ว่าในเรื่องของภาษาก็ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในทางความคิด 2 ความคิดไม่แปรเปลี่ยน

1 เน้นมาตรฐานหนึ่งเดียว 1 เน้นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ

ต้องยอมรับว่าเสียงเรียกร้องในเรื่องความหลากหลายหรือที่เรียก ว่า “พหุ-วัฒนธรรม”นั้น ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี

หากมีเฉพาะหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

เท่ากับชี้ชัดว่าเป็นการปรากฏขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นการปรากฏขึ้นของนักการเมืองหลากหลายรากฐานที่มา

และก็เป็นไปตามคำขวัญ “อนาคตเรากำหนดเอง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน