บทบรรณาธิการ

การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทหารจับตายนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาวลาหู่ นักกิจกรรมทางสังคม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคม เชื่อได้ว่าจะต้องอาศัยเวลาอีกพักหนึ่งเพื่อจะได้ข้อมูลที่รอบด้าน

หลังจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในเหตุการณ์ พร้อมกับการโต้แย้งข้อสงสัยและข้อสังเกตของคนกลุ่มอื่นๆ

ส่วนภาคประชาสังคมและกลุ่มสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กลุ่มสิทธิเด็ก กลุ่มเยาวชน กลุ่มองค์กรภาคประชาชน ฯลฯ แสดงความห่วงใยและเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีนี้ให้แน่ชัด

เพราะการสูญเสียชีวิตและการตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรมนั้นเป็นเรื่องใหญ่

ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะการสู้รบมาเป็นพิเศษ แต่เมื่อมาปฏิบัติภารกิจที่เชื่อมโยงกับพลเรือนแล้วจึงมีความเสี่ยงสูง

ทุกวันนี้พบว่าประเทศที่ร่วมทำสงคราม มักเกิดกรณีกองทัพโจมตีที่ผิดพลาดหลายครั้ง จนทำให้พลเรือนเสียชีวิตมากน้อยไปตามเหตุการณ์

ส่วนประเทศที่ไร้ศึก ทหารจะมีบทบาทสำคัญในภารกิจด้านรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะทางธรรมชาติ ไม่ว่าอุทกภัย แผ่นดินไหว ไปจนถึงภัยแล้ง

สำหรับประเทศไทย ภารกิจที่ทหารได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ช่วยเหลือประชาชน เช่น อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมเป็นพิเศษ

ผิดกับเหตุการณ์ความขัดแย้ง เช่น การควบคุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือการเคลื่อนกำลังเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงปี 2553

ในการพิจารณามอบหมายบทบาทให้เจ้าหน้าที่ทหาร ระดับการมีส่วนร่วมในภารกิจต่างๆ นั้นมีความสำคัญเช่นกัน

มีหลายภารกิจที่ทหารเหมาะกับการเป็นกำลังเสริมมากกว่าเป็นกำลังหลัก และหลายภารกิจเหมาะจะอยู่ในส่วนปฏิบัติมากกว่าการตัดสินใจ

กรณีการวิสามัญฯ นายชัยภูมิ ป่าแส อาจเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมไปอีกนานว่า สมควรแก่เหตุหรือไม่ แม้ในทางราชการจะสรุปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว

การรับฟังความเห็นที่หลากหลายก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะไม่ใช่ทักษะที่ถนัดก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน