นโยบาย แก้ไขรธน.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

นโยบาย แก้ไขรธน. วาระรัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กำหนดเริ่มวันที่ 25 ก.ค.นี้ หลังจากร่างนโยบายรัฐบาลจากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ส่งให้กับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 41 หน้า นำเสนอกรอบ กว้างๆ ที่รวบรวมนโยบายและความเห็นจาก ทุกพรรคร่วมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้นายกฯ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง

การหลอมรวมนโยบายสำคัญจากการจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรคเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะแต่ละพรรคย่อมมีประชาชนสนับสนุนอยู่

รายงานข่าวที่เปิดเผยออกมาขณะนี้ระบุว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เงื่อนไขหลักที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างเป็นเหตุผลยอมเข้าร่วมรัฐบาลนั้น เพียงใส่ไว้ในหมวดการพัฒนาการเมือง

แต่ไม่ได้บรรจุไว้เป็นเรื่องเร่งด่วน

กระแสข่าวดังกล่าวหากเป็นจริง นับว่าไม่เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

เนื่องจากแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลมีรากฐานและได้ประโยชน์มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงไม่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญมา ตั้งแต่แรก

แม้ต้องยอมบรรจุไว้ในร่างนโยบายครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักย่อมเพื่อการประนีประนอมกับพรรคร่วมรัฐบาล ให้รัฐนาวานี้เดินต่อไปได้

แต่การกำหนดไม่ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน ตีความได้ไม่ยากว่า นโยบายนี้ถูกวางไว้ในจุดที่ไม่ให้ความสำคัญ

เพราะโดยเงื่อนไขที่เป็นไปโดยธรรมชาติของการรักษาผลประโยชน์ รัฐบาลที่ต้องอาศัยเสียงจัดตั้งจากวุฒิสมาชิก 250 เสียง ย่อมไม่ปรารถนาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองสุ่มเสี่ยง พ้นจากการเป็นรัฐบาล

ความเร่งด่วนที่พรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล กำหนดว่าจะต้องดำเนินการภายในเวลา 1 ปี เป็นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ การสร้างอนาคตให้ประชาชน

ระบุถึงการสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายได้เช่นกัน

ส่วนนโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏอยู่ในร่างนโยบายอย่างชัดเจน

คำถามจึงตกแก่พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะตอบประชาชนอย่างไร ถึงจุดยืนที่ยอมร่วมรัฐบาลเพราะจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

จะทำอย่างไรให้เสียงของประชาชนที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนและควรทำควบคู่ไปกับนโยบายเศรษฐกิจ ได้รับการตอบสนอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน