FootNote : เงื่อนปมถวายสัตย์ปฏิญาณ จบที่ยังไม่จบในโลกออนไลน์

แม้ในทางการเมืองการหยิบประเด็นเรื่อง “ถวายสัตย์ปฏิญาณ”เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม จะจบลงแล้วในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าจบ

โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งเป็นผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุม

แต่ไม่สามารถกลายเป็น “วาระ”ขึ้นมาได้

เนื่องจาก 1 ได้มีข้อทักท้วงจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐว่าไม่มีใครได้ยิน และการอ้าง “คลิป”ก็ไม่แน่ว่ามีการตัดต่อหรือไม่

ประกอบกับ 1 ประธานรัฐสภาเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง

กระนั้น กล่าวในทางสังคมกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณ”ทำท่าว่าอาจไม่จบลงอย่างง่ายดาย

เพราะได้กลายเป็น “ประเด็น”และก่อให้เกิดความสงสัย

พลันที่ความสงสัยนี้ได้ตกอยู่ในสังคมออนไลน์ การพิสูจน์ทราบก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

เป็นการพิสูจน์ทราบจาก 2 ตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 1 คือ คำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณของครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ตัวอย่างที่ 2 คือ คำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณของครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562

อ้างอิงจาก “คลิป”ข่าวในราชสำนัก

พร้อมกับนำเสนอข้อสงสัยของ ส.ส.ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562

จากคนแรก คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคนต่อมาคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ต้องการจะอภิปรายในเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน ก็นำคำพูด นายวีระกร คำประกอบ และนายชวน หลีกภัย มาอ้างอิงอยู่ด้วย

พร้อมกับเป็นการตั้ง “คำถาม”เพื่อต้องการความกระจ่าง

น่าสนใจก็ตรงที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยืนยันว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว จะไม่ขอให้ความเห็นอะไรอีก

แต่รูปธรรมที่ปรากฏทางโซเชียลมีเดีย เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า เรื่องไม่น่าจะจบ

ไม่น่าจะจบเพราะว่าตัวอย่าง 2 ตัวอย่างที่ยกมานั้นมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

ประเด็นอยู่ที่ว่าเป็นของจริง หรือว่าเป็นของเท็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน