คอลัมน์ ออกจากกรอบ : ฮักเชิล คิม

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน หลายท่านในที่นี้คงมีวิธีเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไป แต่เคยตั้งคำถามกันไหมครับว่า เลี้ยงลูกแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักลูก? ต้องให้ทุกอย่างที่พวกเขาต้องการหรือเปล่า? หรือต้องปูทางชีวิตเขาให้ราบรื่นเพื่อให้ลูกมีความสุข แต่ไม่ว่าแบบไหน ทุกการเลี้ยงดูย่อมส่งผลไปถึงพฤติกรรมในอนาคตอย่างแน่นอนครับ

เมื่อพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แฟชั่นที่ล้ำสมัย ไปจนถึงความเจริญอื่นที่ชวนให้ผู้คนหลงไหล และใฝ่ฝันอยากจะให้ลูกที่รักได้ไปเรียนต่อหรือมีชีวิตแสนสุขที่นั้น

 

แต่ช้าก่อนครับ เหรียญย่อมมีสองด้าน ประเทศที่เจริญแล้วก็ยังมีมุมมืดที่อันตรายซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การค้าประเวณี มิจฉาชีพ รวมไปถึงอาชญากรรมความรุนแรงต่างๆ ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่เป็นรองใครเช่นกัน

หากย้อนกลับไปสมัยกำเนิดประเทศนี้ยุคแรกๆ จะเห็นว่ามีปัจจัยบางอย่างที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประชากรของเขา นั่นก็คือ การเลี้ยงดู ผู้คนอเมริกาในสมัยนั้นมักจะมีชีวิตอยู่โดยเชื่อพระเจ้า พวกเขาร่วมใจกันสร้างพระวิหารนมัสการพระเจ้าก่อน จากนั้นสร้างโรงเรียน แล้วจึงสร้างบ้านตัวเองเป็นอย่างสุดท้าย ทำให้พวกเขามีจิตใจที่คิดถึงส่วนรวมก่อน แม้จะอยากได้อะไรก็จะยับยั้งความต้องการของตนเองไว้และรู้จักรอคอยจนถึงเวลาที่เหมาะสม

ตอนที่เลี้ยงลูกก็เช่นกัน เมื่อไหร่ที่ลูกอยากกิน พวกเขาจะยังไม่ให้ลูกกินในทันที แต่จะรอจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องกินจริงๆ จึงจะเอานมให้ลูกกิน เด็กๆ จึงรู้ว่าต่อให้ร้องไห้ไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะพ่อแม่ก็ยังไม่ให้อยู่ดี จึงอดกลั้นความอยากของตนเองและรอคอยที่จะกินในมื้อต่อไป เด็กๆ ในสมัยนั้นได้รับการฝึกหัดจิตใจแบบนี้เรื่อยๆ ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจเข้มแข็งที่สามารถต่อสู้กับความต้องการของตนเองได้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประเทศที่ยิ่งใหญ่นี้

กระทั่งปี 1940 มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์จนกลายเป็นที่นิยมทั่วทุกภูมิภาคอเมริกาในเวลาต่อมา โดยมีสาระสำคัญว่า “เมื่อไหร่ที่ลูกร้องก็เอานมให้ลูกกิน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในยุคนั้นก็เติบโตขึ้นและสร้างปัญหามากมายในอเมริกาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดคดีร้ายแรงจากมูลเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น การฆาตกรรม หรือทำร้ายร่างกายเพียงเพราะไม่ชอบหน้ากัน

เด็กๆ ในยุคนั้นถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ เมื่อไหร่ที่หิวก็แค่ร้อง อยากได้อะไรก็แค่ร้อง พ่อแม่ก็จะสรรหาทุกสิ่งมาให้ ส่งผลให้เด็กมีแต่ความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาว ตราบใดที่พ่อแม่ยังมีกำลังที่จะหามาให้ พวกเขาจะยังคงเป็นลูกที่น่ารักของคุณ

แต่เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มตอบสนองความต้องการของพวกเขาไม่ได้แล้ว ลูกที่น่ารักของคุณก็จะเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ใจร้อน และจะไม่หยุดความต้องการของตนเองง่ายๆ เพราะนั่นถือเป็นความพ่ายแพ้ พวกเขาจะเรียกร้องเรื่อยๆ จนกระทั่งพ่อแม่ให้เขาไม่ได้ เขาก็จะเริ่มหามันเองด้วยวิธีง่ายๆ ซึ่งมักจะไม่ถูกต้องนัก เช่น การลักขโมย การค้ายาเสพติด ไปจนถึงการค้าประเวณี เพราะเป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมาก

ในสังคมไทยก็เช่นกัน จะเห็นได้บ่อยเกี่ยวกับพฤติกรรมมักง่ายของเยาวชนที่ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในวงกว้าง เช่น การหลอกเติมเงินเล่นเกม การก่ออาชญากรรมโดยไม่ทันยั้งคิด หรือกระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งโดยปกติหากเป็นคดีร้ายแรง ต่อให้เป็นเยาวชนก็ยังต้องรับโทษ ทำให้พวกเขาสามารถสำนึกผิดจากการกระทำของตนเองได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คดีนั้นๆ มีพ่อแม่ออกโรงปกป้องอย่างเต็มที่ เยาวชนผู้กระทำผิดนั้นมักไม่รู้สึกผิดและมีโอกาสก่อคดีซ้ำอีกเพราะรู้ว่าพ่อแม่มีทรัพยากรมากพอที่จะปกป้องพวกเขาจากความผิดได้

ทุกท่านครับ หลายครั้งพ่อแม่อย่างเรายอมลำบากเพื่อให้ลูกได้รับสิ่งดีๆ ให้เขาได้กินอาหารที่ดี ได้นอนหลับอย่างสบาย ได้เรียนสูงๆ และใช้ของดีๆ ไม่น้อยหน้าใคร แต่ความตั้งใจให้ที่เกินพอดีก็ย่อมส่งผลเสียโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นกัน ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้มีโอกาสฝึกหัดจิตใจให้ลูกทีละนิด ด้วยการตั้งข้อแม้ง่ายๆ ให้เขาได้อดทนรอคอยอย่างมีความหวัง เช่น การให้ลูกอดทนรอคุณรดน้ำต้นไม้ในสวนเสร็จเพื่อจะได้กินขนม ซึ่งคุณอาจจะขอให้เขามาช่วยคุณเพื่อให้เสร็จเร็วขึ้นก็ได้


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
FB : Mind World by Kim Hak Cheol, Ph.D.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน